Information Overload ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวไม่รอด!

Information Overload ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวไม่รอด!

Information Overload ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวไม่รอด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าจะให้กล่าวถึงหนังสือสักเล่มที่อยู่ในใจผมตลอดกาลก็คงหนีไม่พ้น The Medium is the Massage (1967) ที่เขียนโดย Marshall McLuhan กับ Quentin Fiore ร่วมด้วย Jerome Agel เพราะแม้ว่าหนังสือจะได้รับการตีพิมพ์มาร่วมครึ่งศษวรรษ แต่แนวคิดที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอนั้นยังนับว่าใหม่ และสามารถนำมาปรับใช้กับโลกยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ในเล่ม McLuhan นำเสนอแนวคิดที่ว่าสื่อกลาง (Medium : หนังสือ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต) ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ตามชื่อของมันอีกต่อไป แต่อาจมีอิทธิพลต่อตัวสาร (Message) ที่ต้องการส่งไปยังผู้รับได้ด้วย พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีไม่ว่าจะสมัยไหนล้วนมีส่วนในการช่วยก่อร่างแนวคิดของผู้คนในสังคมให้สอดรับกับวิธีที่เราใช้ในการสื่อสารที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นเอง ด้วยแนวคิดนี้ สื่อกลางจึงไม่เป็นกลางอีกต่อไป แต่อาจทำให้ตัวสารมีความผิดเพี้ยนไปจากเนื้อหาดั้งเดิมที่ต้องการสื่อไปในตอนแรก

ขอต้อนรับสู่ยุคข้อมูลล้นเกิน!
มหาอุกภัยที่ผ่านมาสะท้อนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ข้อมูลที่หลั่งใหลมาอย่างไม่ขาดสายทั้งจากสื่อเดิม (โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์) สื่อร่วมสมัย (Facebook, Twitter) ล้วนมอบข้อมูลมากมายให้กับเราทั้งที่จริงและไม่จริง รวมทั้งที่ไม่จริงแต่ทำให้กลายมาเป็นจริงได้ด้วยการบอกต่อผ่านปุ่ม "ไลค์" และ "แชร์" จนทำให้ผู้ที่ไม่มีวิจารณญาณมากพอตกเป็นเหยื่อของการแบ่งปันอย่างล้นเกินและกระแสข้อมูลที่ถ่าโถมเข้ามาโดยไม่มีการกลั่นกรอง

ถึงแม้ในยุคที่ข้อมูลได้รับการเปิดกว้างและใครๆ ก็เป็นผู้สร้างคอนเทนต์ได้เช่นในปัจจุบัน จะมีข้อดีตรงที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากอย่างที่คนยุคก่อนคงได้แต่ฝัน แต่ก็ใช่ว่าทุกเนื้อหาที่ได้รับการบอกต่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ เทรนด์ในยุคปัจจุบันที่เน้นให้ผู้บริโภคแบ่งปันอย่างขาดสติไม่เพียงแต่จะทำลายสื่อกลางที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีการคิดค้นกันมาเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการทำร้ายผู้ใช้โดยไม่รู้ตัวเพราะแยกแยะไม่ออกระหว่างคุณภาพกับปริมาณ

นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่ใครๆ พากันต่อต้านระบบ Frictionless Sharing ของ Facebook ที่ผมนำเสนอไปเมื่อเล่มที่แล้ว และนี่เองที่ทำให้ Google ตัดสินใจเปิดบริการ Search Plus Your World เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเป็นการนำคอนเทนต์ที่ถูกแบ่งปันใน Google+ ของผู้ใช้มาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงผลค้นหาเพื่อเป็นการกลั่นกรองข้อมูลจากบรรดาสารพันเว็บฯ และตรงความต้องการมากทึ่สุด

และนี่เองที่ทำให้ในปลายเดือนเดียวกัน Twitter ได้เข้าซื้อกิจการ Summify บริการคัดกรองเนื้อหาที่ถูกแบ่งปันบนเครือข่ายสังคมของผู้ใช้ในแต่ละวัน แล้วนำเสนอแต่เฉพาะเนื้อหาที่น่าสนใจส่งตรงถึงผู้ใช้ผ่านทางอีเมล และก็ด้วยเหตุเดียวกันนี้เองที่ทำให้เนื้อหาที่นำเสนอโดยกลุ่ม "รู้สู้! flood" ที่แสดงน้องวาฬในระบบแอนิเมชั่นจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงน้ำท่วม เพราะเป็นการคัดกรองเอาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ แยกข้อเท็จจริงออกจากข่าวลือ แล้วนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจไม่ยากและนำไปใช้ได้จริง

ทิศทาง "การคัดกรองเนื้อหา" (Content Filtering หรือ Curation) กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแต่จะสอดรับกับแนวโน้มข้อมูลล้นเกินดังที่กล่าวไป แต่เรายังสามารถนำวิกฤตินี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้ Steve Rubel (www.steverubel.me) รองประธานฝ่ายบริหารของ Global Strategy and Insights for Edelman บริษัทประชาสัมพันธ์ชั้นนำของโลก ได้นำเสนอแนวคิด Media Cloverleaf ที่ได้แบ่งสื่อกลางในยุคปัจจุบันออกเป็น 4 ประเภทคือ

1. Traditional Media หรือสื่อเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ
2. TraDigital Media หรือสื่อร่วมสมัยกึ่งดั้งเดิมกึ่งดิจิตอล เช่น บล็อก เว็บไซต์ และเนื้อหาที่เป็นลูกผสมระหว่างบทความและโฆษณา เป็นต้น
3. Owned media หรือสื่อที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ผลิตขึ้นมาเอง ทั้งเพื่อเป็นการให้ความรู้กับผู้ใช้และเพื่อเป็นการขายสินค้าทางอ้อม เช่น บทความการเลือกซื้อกล้องอย่างไรให้โดยใจในเว็บไซต์ของผู้ผลิตกล้อง เป็นต้น
4. Social Media เช่น Facebook หรือ Twitter ซึ่งในปัจจุบันเป็นช่องทางที่แบรนด์สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและรวมทั้งเป็นเหมือนกับสะพานที่สามารถเชื่อมไปยังสื่อประเภทอื่นได้
อย่างไรก็ดี Rubel เตือนว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมองสื่อทั้ง 4 ประเภทเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้แยกกันดังที่นำเสนอ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแบรนด์ที่จะต้องนำความจริงข้อนี้มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ การสร้างสรรค์เนื้อหาที่ทรงคุณค่า ผนวกรวมกับเนื้อหาจากที่อื่นซึ่งข้องเกี่ยวกัน แล้วจึงนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้รับสารสามารถบอกต่อได้ง่ายนั้นนับเป็นวิธีการที่น่าสนใจในการเก็บเกี่ยวข้อดีของยุคข้อมูลล้นเกินในปัจจุบัน

Information Diet : มาลดความอ้วน (ข้อมูล) กันเถอะ!
ข้อมูลก็เหมือนกับสายน้ำ ตรงที่ยากจะไปหยุดยั้ง แน่นอนว่าในปัจจุบันเราคงไม่สามารถไปห้ามปรามการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออกไลน์ได้ แบรนด์ดังต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงนี้ด้วยการสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ผ่านทางช่องทางที่สามารถบอกต่อได้ง่าย แล้วผู้บริโภคอย่างเราล่ะจะทำอย่างไร แทนที่จะเลิกเล่น Facebook กับ Twitter ไปเลยอย่างสิ้นเชิง Clay Johnson ผู้เขียนหนังสือ The Information Diet : A Case for Conscious Consumption (2012) ได้นำเสนอวิธีการบริโภคข้อมูลอย่างมีสติและอย่างชาญฉลาดไว้ด้วยกันหลายประการ โดยเริ่มจาก 5 ขั้นตอนพื้นฐานคือ 

1. บันทึก
Johnson แนะนำให้เราหมั่นสังเกตว่าในแต่ละวันเรารับข้อมูลมาจากแหล่งใดบ้าง รวมทั้งให้กำหนดระยะเวลาที่เราจะใช้ในการรับข้อมูลจากสื่อนั้นๆ เช่น ตอนเช้าเราอาจเช็กเครือข่ายสังคมว่าประเด็นใดกำลังเป็นที่น่าสนใจ กลางวันอาจดูข่าวเที่ยงเพื่ออัพเดตความเคลื่อนไหว พอตกเย็นก็อาจอ่านบทความเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อรับข้อมูลเชิงลึก การแบ่งเวลาสำหรับบริโภคข้อมูลแต่ละประเภทจะช่วยให้เราตระหนักได้ว่าควรทำอะไรต่อไป เพราะหัวใจสำคัญของ Information Diet ไม่ได้อยู่ที่การบริโภคข้อมูลมากหรือน้อยเกิน แต่อยู่ที่การรู้ว่ากำลังบริโภคอะไรอยู่และสามารถตัดสินใจอย่างชาญฉลาดจากข้อมูลที่เรามี

2. เลิกดูทีวีซะ!
Johnson เสนอว่า ทีวี โดยเฉพาะช่องรายการเคเบิลทั้งหลายนั้นแทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย เพราะเป็นวิธีการบริโภคแบบ Passive ซึ่งก็คือเป็นวิธีการบริโภคที่เราถูกถ่าโถมด้วยข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียวและไม่ได้มีโอกาสโต้ตอบกลับ ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีการบริโภคแบบ Active ที่เว้นช่องว่างให้เราคิดและลงมือทำอะไรบางอย่าง การรู้มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราฉลาดกว่าเดิม และข้อมูลที่เราได้รับมาคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดถ้าไม่ได้ทำให้เรารู้จักคิด

3. ตั้งค่าระบบต่างๆ ให้เอื้อต่อการบริโภคอย่างมีสติ
ข้อมูลล้นเกินในปัจจุบันนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนเพราะแยกแยะข้อเท็จจริงไม่ออกแล้ว สื่อกลางยุคไอทีต่างๆ ยังทำให้เราสมาธิสั้นอีกด้วย เพราะลองนึกดูว่าผลจะเป็นอย่างไรเมื่อเราตั้งใจนั่งทำงานแล้วอยู่ๆ โทรศัพท์ดังขึ้น หลังจากคุยเสร็จแล้วสมาร์ทโฟนของเราเกิดสั่นเพราะมีเพื่อนมาคอมเมนต์ภาพแมวเหมียวลื่นหกล้มในห้องครัวที่เราแชร์ไว้เมื่อคืน แล้วอีกสักพักหนึ่งมีน้องทักเข้ามาใน WhatsApp ว่าไปหาอะไรทานกันเย็นนี้ไหม แล้วอีกสักครู่ Facebook ก็แจ้งเตือนมาว่ามีเพื่อนของเราส่งคำร้องขอให้เราไปร่วมเล่นเกมที่เพิ่งให้บริการใหม่ วนไปเรื่อยๆ แบบนี้ทั้งวันงานคงจะเสร็จอยู่หรอก เพราะฉะนั้น Johnson จึงแนะนำให้เราปิดการแจ้งเตือนบนบริการออนไลน์ทั้งหลายเพื่อไม่ให้มากวนเวลาทำงานของเรา รวมทั้งให้ติดตั้งปลั๊กอินอย่าง Adblock บนบราว์เซอร์เพื่อขจัดปัญหาโฆษณากวนใจเวลาเรากำลังหาข้อมูล

4. หมั่นสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเองบ้าง
Johnson เสนอว่า การสร้างเนื้อหามีความสำคัญพอๆ กับการบริโภค เพราะเป็นวิธีการเดียวที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถตกผลึกทางความคิดและเข้าใจเนื้อหาได้แท้จริงหรือไม่ (เหมือนกับเวลาสอบนั่นแหละ) อาจสละเวลาสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง ในการเขียนบล็อกในประเด็นที่เราสนใจ ความยาวไม่ต้องมาก สัก 1,000 คำก็พอ ส่วนจะแบ่งปันให้คนอื่นอ่านหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่ขอให้เราสร้างคอนเทนต์อะไรบ้างเป็นใช้ได้ หรือหากใครไม่ถนัดเขียนก็อาจจะลองวิธีอื่นอย่างการนำเสนอวิธีการปรุงอาหารในรูปแบบวิดีโอแล้วโพสต์ลง YouTube เป็นต้น

5. อ่านหนังสือ
แม้ว่าปัจจุบันสื่อกลางที่ใช้ในการบอกผ่านตัวสารจะมีหลากหลายประเภทมากขึ้นดังที่กล่าวไป แต่สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือ (ทั้งแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์) ยังนับว่าเป็นสื่อสำหรับบริโภคเนื้อหาที่ดี เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว หนังสือสามารถให้รายละเอียดเชิงลึกได้ดีกว่าบทความทั่วไปหรือเนื้อหาบนเครือข่ายสังคม แม้ว่าอาจไม่ได้อัพเดตทันใจบ้าง แต่ถ้าสำหรับการใช้อ้างอิงข้อเท็จจริงแล้วก็ยังนับว่าไม่มีสื่อใดสามารถทำได้มีประสิทธิภาพเท่า อีกทั้งหนังสือยังสามารถทำให้เรา "หลุด" เข้าไปในเนื้อหาเพราะว่ากำลังดื่มด่ำเหมือนเวลารับชมภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องได้อีกด้วย

การปฏิวัติดิจิตอลทำให้เกิดการหลั่งใหลของข้อมูลข่าวสารมากมายจนเราไม่อาจตั้งตัวทัน เพราะไม่เพียงแต่การสื่อสารในยุคปัจจุบันจะทำได้อย่างรวดเร็วเพียงคลิกเท่าทั้น แต่ข้อมูลต่างๆ ที่ถ่าโถมมายังมากล้นเกินกว่าที่เราจะสามารถทำความเข้าใจหรือตีความได้ทันเวลา วิกฤติตรงนี้นับว่าเป็นโอกาสงามสำหรับผู้ที่สามารถมอบเครื่องมือสำหรับคัดกรองน้ำดีออกจากน้ำเสีย และสำหรับผู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภคเนื้อหาให้เป็นอย่างชาญฉลาดเพราะคงไม่มียุคใดแล้วที่เราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกเท่านี้

แต่ถึงอย่างไร การที่เรารู้มากกว่าไม่ได้หมายความว่าเราฉลาดกว่าคนรุ่นก่อนหรือคนที่ไม่มีโอกาสสัมผัสกับช่องทางการเข้าถึงข้อมูลอันรวดเร็ว หากขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถคิดและใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดจากข้อมูลที่เรามีได้หรือไม่ ความเห็นของผมถูกต้องหรือไม่ ลองกลับไปคิดเล่นๆ เป็นการบ้านดูครับ

Profile นักเขียน
falcon_mach_v-สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 ชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กและบ้าคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แต่เนื่องจากชอบอ่านข่าวและบทความตามเว็บไซต์มากกว่านั่งเขียนโปรแกรมจึงได้ตัดสินใจเรียนด้านนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ และเป็นนักเขียนบทความไอทีอิสระให้กับสื่อต่างๆ

 

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ Information Overload ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวไม่รอด!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook