เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ปีหน้า 40,000 ล้านบาท
เอสเอ็มอีแบงก์ ส่งแผนฟื้นฟูให้ สคร. แล้ว เร่งแก้เอ็นพีแอลทั้งตัดขายและจ้างเอกชนบริหาร รวมทั้งพยุงลูกค้าที่ยังดำเนินกิจการอยู่ปรับโครงสร้างหนี้ให้โอกาสฟื้นตัว ตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่ปีหน้า 40,000 ล้านบาท เน้นช่วยรายย่อย
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารส่งแผนฟื้นฟูให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของแผนฟื้นฟู คือ การแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และการขยายสินเชื่อ Good Loan โดยมีการสรุปปัญหาขององค์กร แนวทางการแก้ไขปัญหา และทิศทางการดำเนินกิจการต่อไปใน 1 ปีข้างหน้า
สำหรับการแก้ไขเอ็นพีแอล ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คือ ลูกหนี้เอ็นพีแอลที่มีหลักประกัน ซึ่งมียอดคงค้าง 11,000 ล้านบาท ธนาคารประกาศเปิดประมูลขายลูกหนี้ที่มีหลักประกันตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้มียอดคงค้างประมาณ 500 ล้านบาท และขณะนี้มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ให้ความสนใจเข้ามาดูข้อมูลหลายราย และจะให้ยื่นราคาซื้อวันที่ 15 มกราคม 2558 สวนลูกหนี้เอ็นพีแอลที่หยุดกิจการและไม่มีหลักประกัน มียอดหนี้คงค้างประมาณ 5,000 ล้านบาท ประมาณ 10,000 ราย ธนาคารได้ออกประกาศว่าจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร มีผู้สมัคร 25 ราย ซึ่งขณะนี้คัดเลือกได้แล้ว เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่เจรจากับลูกหนี้แล้วเรียกเก็บหนี้ต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารเซ็นเอ็มโอยูกับกรมบังคับคดี เพื่อให้กรมบังคับคดีเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างธนาคารกับลูกหนี้ไม่มีหลักประกันที่เป็นรายย่อย ซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว โดยจะเริ่มเจรจาไกล่เกลี่ยวันที่ 9 ธันวาคมนี้ สำหรับลูกหนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนลูกหนี้ตามเขตภูมิภาค จะเจรจาลำดับต่อไป
ส่วนลูกหนี้เอ็นพีแอลที่ยังดำเนินกิจการ ธนาคารเร่งทำการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เพราะขณะนี้เอ็นพีแอลลดลง โดยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 35,167 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.92 ของสินเชื่อรวม ขณะที่เดือนนตุลาคมอยู่ที่ 33,053 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.89 ของสินเชื่อรวม
นางสาลินี กล่าวถึงการดำเนินการตามพันธกิจปี 2558 ว่า ธนาคารมุ่งขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายย่อย โดยตั้งเป้าจะขยายสินเชื่อประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อ 9 เมนูคืนความสุขเอสเอ็มอี ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา วงเงิน 20,000 ล้านบาท และตั้งวงเงินสินเชื่อเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการพิเศษ “สินเชื่อ SMEs คนดี ” เป็นการให้สินเชื่อลูกค้าเดิมที่มีคุณภาพดีของธนาคาร และลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ ดังนั้น ธนาคารคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างสุทธิสิ้นปี 2558 น่าจะอยู่ในระดับ 120,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ 40,000 ล้านบาทดังกล่าว และจะขายเอ็นพีแอล ออกไปประมาณ 11,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันอาจมีลูกหนี้มาชำระคืนหรือ รีไฟแนนซ์ไปอยู่กับธนาคารอื่น เป็นผลให้ยอดสินเชื่อสุทธิน่าจะเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท คือ จาก 90,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2557 ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 120,000 ล้านบาทในสิ้นปี 2558 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณร้อยละ 33 ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นอัตราเพิ่มที่มาก แต่เกิดขึ้นเนื่องจากธนาคารมีขนาดเล็ก ฐานสินเชื่อเดิมมีจำนวนไม่มาก ประการสำคัญที่สุด ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาคุณภาพสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นใหม่ จึงได้มีการจัดตั้งฝ่ายงาน Loan Monitoring เพื่อติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อและกระจายพนักงานที่ทำงาน Loan Monitoring ไปอยู่สำนักงานเขตทั่วประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 10 เดือนแรกปี 2557 ( มค. – ตค.57 ) นั้น ธนาคาร ค่อย ๆ ปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 216 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่มีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท เพียงเดือนกันยายน 2557 และจากที่ขาดทุนครึ่งปีแรก 41 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเนื่องจากธนาคารสามารถขยายสินเชื่อรายย่อยได้ตามพันธกิจ ทำให้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารสามารถป้องกันลูกหนี้เดิมไม่ให้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลและปรับโครงสร้างลูกหนี้เอ็นพีแอลเดิมให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ จึงไม่มีภาระตั้งสำรองเพิ่ม
ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปในระยะยาว ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดให้ความสนใจด้วยนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร ทำให้สัดส่วนของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้ต่อพนักงานทั้งสิ้น ขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เป็น ร้อยละ 60 สิ้นเดือนตุลาคม 2557 และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ซุปเปอร์บอร์ดให้ธนาคารปฏิบัติ คือ การดูแลปลูกฝังเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการดำเนินงาน รวมถึงการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ซึ่งธนาคารตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สินเชื่อและการลงทุนในอดีตของธนาคารแล้ว พบว่ามีหลายกรณีที่ธนาคารเป็นฝ่ายเสียเปรียบโดยไม่สมควร ซึ่งธนาคารได้จัดให้มีคณะทำงานเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลภายนอกหรือพนักงานที่เป็นสาเหตุให้ธนาคารเกิดความเสียหาย หรือเสียเปรียบโดยไม่สมควรต่อไป คณะกรรมการธนาคารได้ให้ความเห็นชอบที่จะจ้างบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส ผู้สอบบัญชีระดับโลกสำรวจระบบการควบคุมภายในเพื่อทำการปรับปรุงในส่วนที่บกพร่องอยู่ รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบภายในหน่วยงานต่าง ๆ ในสำนักงานใหญ่ ทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน และระบบงานคอมพิวเตอร์ รวมถึงการปฏิบัติงานของสาขาทั่วประเทศอีกด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และพนักงานของธนาคารจะมีโอกาสการเรียนรู้วิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องจากบริษัทอีวายฯต่อไป.