เปิดเกณฑ์ กองทุนการออมแห่งชาติ
เปิดดูหลักเกณฑ์ กองทุนการออมแห่งชาติ หลักประกันของผู้ใช้แรงงานนอกระบบ กว่า 24 ล้านคน แค่อายุ15 ก็เข้าสมัครสมาชิกกองทุนได้
เมื่อวานนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมาตรการคืนความสุขให้ประชาชนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่2558 ไปแล้ว ซึ่งมีมาตรการทั้งเรื่องการเงิน และการลดค่าใช้จ่ายค่าครองชีพสำหรับประชาชนรากหญ้าหรือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีด้วย
ในมาตรการที่ออกมามีมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจและได้ประโยชน์กับคนจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสในการออมเพื่อเกษียณอายุเนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบแรงงานหรือเป็นลูกจ่างของบริษัท ก็คือ การเดินหน้าจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยขอศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้ครม.เห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการหยิบการจัดตั้งกองทุนการออมที่ได้ผ่านพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติมาแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ แต่ยังไม่ได้ออกแนวปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา ก็เปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน
โดยในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แช่แข็งการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติเอาไว้ แล้วไปผลักดันการออมที่มีหลักการคล้ายกับกองทุนการออม ผ่านกองทุนประกันสังคมแทน หรือที่เรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งเพิ่งหมดเขตการสมัครเป็นผู้ประกันตนไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมานี้เอง
อย่างไรก็ตามการเดินหน้าจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อให้เป็นรูปธรรม นั้นถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้แรงงานไทยประมาณ 24.6 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ มีโอกาสสร้างหลักประกันตนเพื่อชีวิตหลังเกษียณขึ้นมาได้
สำหรับหลักการและใครที่จะสามารถเข้ากองทุนการออมได้บ้างนั้นเราไปดูรายละเอียดกัน
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช. คือ
1เป็นบุคคลสัญชาติไทย
2 อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
3 ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนเพื่อการชราภาพใด ๆ ที่มีการสมทบเงินจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนประกันสังคม (ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
นอกจากนี้ยัง เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถออมต่อไปได้อีก 10 ปี โดยมีสิทธิขอรับบำนาญได้เมื่ออายุครบ 60 ปีอีกด้วย
เงื่อนไขการการจ่ายเงินเข้ากองทุนมาจาก 2 ฝ่าย คือ
1 สมาชิกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนนอกจากนี้ หากในปีใดไม่สามารถส่งเงินสะสมได้ กอช. จะยังคงสิทธิความเป็นสมาชิกไว้ แต่รัฐก็จะไม่ส่งเงินสมทบให้
2 รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุน
โดยก่อนหน้านี้มีการกำหนดอัตราไว้ คือ
- 15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี
- อายุ 30-50 ปี รัฐจ่ายให้ 80% ของเงินสะสม แต่ต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี
- อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐจะสมทบจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
สำหรับผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ เมื่อครบเกษียณ(อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์) ใน 4 กรณี คือ
1 จะได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลจากเงินสะสม เงินสมทบ ตามจำนวนเงินในบัญชีของผู้ออมแต่ละคนไปจนตลอดอายุขัย เป็นลักษณะของบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต
2 หากสมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและดอกผลของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
3 หากลาออกจากกองทุน จะได้รับเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสม
4 หากเสียชีวิต จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินในบัญชีของแต่ละบุคคลที่ออมไว้
ทั้งนี้หากสมาชิกได้งานและไปเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพอื่น ๆ ก็ยังคงความเป็นสมาชิกและมีสิทธิส่งเงินสะสมกับ กอช. ได้ต่อไป ไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุน แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ และเงินที่สะสมในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่ถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ
และในระหว่างเป็นสมาชิก กอช. จะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้
ทั้งหมดคือ หลักการของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง