คู่มือการเป็น "เจ้าหนี้" มือโปร!...การ "ทวงหนี้" ก็มีเวลาทำการนะจ๊ะ
หากเราไม่ได้ชำระหนี้เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ผู้ให้สินเชื่อก็อาจเริ่มติดต่อเรา เช่น โทรศัพท์มาหาเพื่อแจ้งให้ไปจ่ายเงิน โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ของผู้ให้สินเชื่อจะเป็นผู้ติดต่อเราในช่วงแรก แต่หากเวลาผ่านไปและเราก็ยังไม่ได้ไปจ่าย ผู้ให้สินเชื่ออาจจ้างตัวแทนซึ่งเป็นบริษัทภายนอกหรือที่เรียกว่า outsource ให้ติดตามทวงถามหนี้ (หรือเรียกเก็บหนี้) แทน
ทั้งนี้ แบงก์ชาติได้กำหนดแนวนโยบายในการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินและ Non-bank ติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ติดตามทวงถามได้เฉพาะภายในเวลาที่กำหนด
- วันจันทร์ – วันศุกร์ ภายในเวลา 8.00 น. – 20.00 น.
- วันหยุดราชการ ภายในเวลา 8.00 น. – 18.00 น
2. ต้องแสดงตัวและแจ้งวัตถุประสงค์ในการติดตามทวงถามหนี้
-กรณีเป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ต้องแจ้งชื่อ และวัตถุประสงค์ในการติดต่อให้ลูกหนี้ได้รับทราบอย่างถูกต้องเหมาะสม
- กรณีเป็นผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้(ตัวแทน) ต้องแสดงเอกสารว่าได้รับอนุญาตจากสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจให้ทำการแทน
3. ต้องใช้วิธีการเรียกเก็บหนี้ที่เหมาะสม
- ไม่ให้เรียกเก็บหนี้จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เช่น ญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงาน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกหนี้หรือเป็นสิทธิตามกฎหมาย เช่น การเรียกเก็บหนี้จากผู้ค้ำประกัน กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
- ไม่รบกวนหรือรังควานลูกหนี้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การติดต่อทางโทรศัพท์โดยไม่เปิดเผยชื่อ หรือติดต่อหลายครั้งจนทำให้ลูกหนี้หรือบุคคลอื่นเกิดความรำคาญ
- ไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง หรือหยาบคาย ข่มขู่ และคุกคามในลักษณะที่ผิดกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้
- ห้ามปลอมแปลง บิดเบือนข้อมูล เอกสาร หรือแสดงท่าทางอันทำให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่าเอกสารเรียกเก็บหนี้หรือเอกสารที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้นั้นออกโดยหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือเครดิตบูโร
4. ต้องเก็บรักษาความลับของลูกหนี้ ห้ามเปิดเผยข้อมูลหนี้ของลูกหนี้ให้บุคคลอื่นทราบระหว่างติดต่อทวงถามหนี้ แม้จะเป็นบุคคลในครอบครัว ยกเว้นได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
5. ต้องให้หลักฐานแสดงการรับเงินจากลูกหนี้ที่เหมาะสมและมีผลในทางกฎหมาย
ที่มา