วิกฤตราคาน้ำมันโลกดิ่ง "โอเปก" ไม่ลดกำลังผลิตถึงปีหน้า
รอยเตอร์สรายงานว่า ดัชนีราคาน้ำมันดิบเบรนต์ล่วงหน้าในตลาดเอเชีย สำหรับการซื้อขายในเดือนม.ค. 2558 อยู่ที่ราว 60.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.57 ดอลลาร์ ก่อนจะเพิ่มขึ้นไปที่ 62.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงท้ายวันที่ 15 ธ.ค. ส่วนราคาน้ำมันดิบของสหรัฐสำหรับการซื้อขายเดือน ม.ค. 2558 อยู่ที่ 58.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์จากธนาคารบาร์เคลย์ของอังกฤษ ประเมินราคาน้ำมันดิบเบรนต์ครึ่งแรกปี 2558 ที่ 67 ดอลลาร์ และปรับขึ้นเป็น 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงครึ่งปีหลัง โดยชี้ว่าราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ น่าจะเกิดระยะสั้น ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับลดดัชนีคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ไตรมาสสุดท้ายปี 2557 อยู่ที่ 80 ดอลลาร์ และ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงไตรมาสแรกปี 2558 และน่าจะอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยตลอดปี
นายเจเรมี ซีริน นักวางแผนการลงทุนจาก UBS Wealth Management Research ประเมินราคาน้ำมันปีหน้า 65-75ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วน นายแอนดี ชี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอเอ็มเอฟระบุว่า ราคาน้ำมันดิบโดยรวมน่าจะทรงตัวอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปอีก 5 ปี เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้มีการใช้น้ำมันน้อยลง
บลูมเบิร์กรายงานว่า นายซูเฮล อัล-มาสรูอี รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนยันว่า โอเปกจะตรึงกำลังการผลิต
น้ำมัน 30.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ราคาน้ำมันจะตกถึงจุดต่ำสุดที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เชื่อต้องรออีกหนึ่งไตรมาส และคาดว่าตลาดน่าจะเข้าสู่สภาวะคงตัวปีหน้า
นอกจากนี้ นายอับดุลลาห์ เอล-บาดรี เลขาธิการโอเปกระบุว่า ราคาน้ำมันที่ตกต่ำเป็นผลจากความกังวล และการเพิ่มกำลังผลิตในกลุ่มประเทศนอกสมาชิกโอเปก 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน น่าจะเห็นภาพรวมของสถานการณ์ได้ชัดในช่วงครึ่งปีแรก 2558
อย่างไรก็ตาม โอเปกซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันโลกประมาณ 40% เชื่อว่าหลังปี 2020 เป็นต้นไป กำลังการผลิตของสหรัฐน่าจะลดลง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมันสำรองน้อย และน่าจะต้องกลับมาพึ่งพิงพลังงานจากตะวันออกกลาง
ด้าน นายอับดุลลาห์ บิน ฮาหมัด อัล-อัตติยาห์ อดีตประธานโอเปก เปิดเผยกับเทเลกราฟว่า ตอนนี้โอเปกไม่มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาน้ำมันอีกต่อไป หากไม่ร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่นอกกลุ่มอย่างรัสเซีย นอร์เวย์ และเม็กซิโก พร้อมประเมินว่ากำลังการผลิตที่ล้นเกินราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน