ผักผลไม้ออร์แกนิกบูม ทุนจีนยึดไทยฐานเออีซี

ผักผลไม้ออร์แกนิกบูม ทุนจีนยึดไทยฐานเออีซี

ผักผลไม้ออร์แกนิกบูม ทุนจีนยึดไทยฐานเออีซี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มณฑลยูนนานผนึกกลุ่มทุนยักษ์ "ซ่งเวย" พัฒนาผักออร์แกนิก ผลไม้ รุกปักฐานใช้ไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกทั่วโลก ชี้ผักและผลไม้กว่า 50 ชนิดทะลักเข้าไทยผ่านด่านบ่อหาน-บ่อเต็นเข้ากรุงเทพฯ เผยยอดขายปีཱུ กว่า 2,400 ล้านบาท พร้อมขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 1 แสนตัน รับเออีซี

นางเขอ ยี่เหม่ย ประธานบริษัท ซ่งเวย จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผักออร์แกนิกรายใหญ่ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทได้เริ่มผลิตและส่งออกผักออร์แกนิกมาตั้งแต่ปี 2548 มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอทงไห่ จังหวัดยวี่ซี่ มณฑลยูนนาน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีความต้องการสินค้าผักออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่เพาะปลูกผักในอำเภอทงไห่จำนวน 4,162 ไร่ และยังได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกในหลายเมืองทั่วมณฑลยูนนานอีกราว 10,822 ไร่


ทั้งนี้ ผลผลิตผักออร์แกนิกเกือบทั้งหมดได้ส่งออกไปต่างประเทศ โดยใช้ระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์เส้นทาง R3A ผ่านด่านบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) เข้าสู่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และขนส่งต่อไปยังกรุงเทพมหานคร ที่ตลาดสี่มุมเมือง โดยวางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ส่งออกสินค้าไปประเทศกลุ่มอาเซียนและตลาดโลก
ในปี 2556 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำลังการผลิตผักออร์แกนิกราว 40,000 ตัน มียอดขายรวมทั้งสิ้น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,500 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2557 ได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 50,000 ตัน ทำให้ยอดขายในปีนี้เพิ่มสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,400 ล้านบาท

นางเขอ ยี่เหมย กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกผักออร์แกนิก แบ่งสัดส่วนเป็นผักที่บริษัทปลูกเอง 80% และอีก 20% ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกและส่งขายให้กับบริษัท โดยมีผักมากกว่า 50 ชนิด และผลไม้อีกราว 20 ชนิด ซึ่งทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตจะเน้นความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง

นอกจากนั้น สินค้าทุกชนิดที่ส่งออกไปต่างประเทศ จะมีหมายเลขทะเบียน (QR Code) ติดที่สินค้าทุกชิ้น ผู้บริโภคสามารถตรวจเช็กคุณภาพผัก-ผลไม้ และเข้าถึงที่อยู่ของผู้ผลิตได้

สำหรับตลาดส่งออก นอกจากประเทศไทยแล้ว ก็มีตลาดอาเซียน เกาหลีใต้ ดูไบ และเยอรมนี ขณะนี้ผักที่ตลาดเมืองไทยมีความต้องการมาก คือกะหล่ำปลี และบร็อกโคลี ซึ่งในปี 2557 ส่งมาขายในประเทศไทยจำนวนมากถึง 3,500 ตัน และบริษัทยังได้นำเข้าสินค้าบางชนิดจากประเทศไทย เช่น มังคุด แต่ปริมาณไม่มากนัก

นางเขอ ยี่เหมย กล่าวต่อว่า เส้นทางการขนส่งสินค้า R3A เป็นเส้นทางการค้าทางบกที่มีศักยภาพสูงมาก เป็นการเชื่อมโยงการค้าจากจีนไปสู่ประเทศไทย อาเซียน และตลาดโลกได้อย่างสะดวก ซึ่งประเทศไทยใกล้กับอาเซียนมาก ดังนั้น บริษัทจึงตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าต่อไปทั่วอาเซียน และจะขยายไปยังตลาดโลกอย่างจริงจังในปี 2558

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า ในปีงบประมาณ 2557 มูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดเชียงรายกับจีนตอนใต้มีมูลค่า 6,293 ล้านบาท สินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผักและผลไม้ 2.เฟอร์นิเจอร์ไม้ 3.ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 4.แร่ 5.กระเทียม สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์พืชผล 2.ยางพารา 3.สินค้าอุปโภคบริโภค 4.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และ 5.เครื่องจักรกลและอุปกรณ์

ส่วนการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรเชียงของ ในปีงบประมาณ 2557 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 15,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 13,641 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการส่งออก 11,992 ล้านบาท และนำเข้า 3,285 ล้านบาท สินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้สด 2.พืชผัก 3.น้ำผึ้ง 4.เครื่องจักรกล/อุปกรณ์ 5.ดอกไม้, ไม้ประดับ ส่วนสินค้าส่งออก 5 อันดับแรก คือ 1.น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2.เครื่องอุปโภคบริโภค 3.ปลากะตักตากแห้ง 4.น้ำมันเบนซิน และ 5.ผลไม้สด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook