Market Talks - บล.เอเซีย พลัส
กลยุทธ์การลงทุน คาดแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยยังผันผวน โดยยังได้รับแรงกดดันจากภายนอกเป็นสำคัญ กลยุทธ์ของนักลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำสะสมหุ้นโดยเน้นหุ้นที่ผันผวนน้อยกว่าตลาด จาก 3 กลุ่มหลักคือ 1) PER ต่ำ 10 เท่า และเงินปันผลสูงกว่า 5%: ASK, TMT, BCP, RATCH, TVO, UPOIC 2) PER ต่ำ 11 เท่า และ EPS เกิน 10%: CPF, GFPT, PTTCH และ 3) หุ้น Low Beta คือ BH, ADVANC, MAJOR และ BECL ซึ่งนักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำจากเดิมถือ เป็นซื้อ เตรียมปรับเพิ่มประมาณการและ Fair Value หากได้ธุรกิจใหม่ คือ ทางด่วน B+ (ศรีรัช – วงแหวนรอบนอก) SET Index 1,067.00 เปลี่ยนแปลง (จุด) 1.55 มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 24,388.08 ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท) นักลงทุนต่างชาติ 254.60 บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 196.69 นักลงทุนสถาบันในประเทศ 603.12 นักลงทุนรายย่อย -1,054.41 ตลาดผันผวนแนะหุ้น BECL มีโอกาสชนะประมูล “ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก” คาดว่าวันนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย น่าจะได้ข้อสรุปถึงรายชื่อผู้ชนะประมูลมูลการก่อสร้างและบริหารรถไฟฟ้าสายศรีรัช-วงแหวน รอบนอก (จตุจักร-สะพานพระราม7-ถนนบรมราชชนนี) ระยะทาง 16 ก.ม. เงินลงทุนราย 1.7 พันล้านบาท โดย BECL เข้าร่วมประมูลกับ CK ขณะที่มีคู่แข่งขันเพียงรายเดียวคือ ทางด่วนโทลเวย์ และ STEC ทั้งนี้คาดว่า BECL น่าจะมีโอกาสชนะสูง เนื่องจากมีประสบการณ์ในการบริหารและจัดการทางด่วนมานานเกือบ 20 ปี และภาครัฐยังเปิดโอกาสให้ BECL ได้รับสิทธิในการตัดสินใจลงทุนทางด่วนเส้นใหม่ก่อนคู่แข่งขัน หาก BECL งบลงทุนที่ต่ำกว่า และหากพิจารณาด้านฐานะทางการเงินของ BECL ก็พบว่ามีความพร้อมเช่นกันกล่าวคือมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแต่ละปีจะอยู่ที่ราว 3.5-4 พันล้านบาท โดยไม่รวมเงินสดในมือที่มีอยู่อีก 4 พันล้านบาท ขณะที่มีอัตราส่วนหนี้สิน ต่อทุน (D/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 0.85 เท่า และแม้การลงทุนครั้งนี้จะต้องมีการลงทุนโดยการกู้ยืมเพิ่มเติม โดยกำหนดให้ D/E ที่ 3:1 จะทำให้ BECL ต้องกู้ยืมอีกราว 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ D/E ขยับขึ้นเป็น 1.6 เท่าใน 2 ปีข้างหน้า แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงหลังจากที่เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์ในปีถัดๆ ไป ทั้งนี้การชนะการประมูลเส้นทางด่วนใหม่นี้ น่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับ BECL อย่างมาก เนื่องจากเส้นทางด่วนดังกล่าวเป็นการวิ่งจากใจกลางเมืองไปยังแหล่งชุมชน กล่าวคือรวมพื้นที่ ทวีวัฒนา บางซื่อ บางกอกน้อย และตลิ่งชัน ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรประมาณ 4.4 แสนคน โดยในเบื้องต้นฝ่ายวิจัย ASP คาดว่าน่าจะมีรถวิ่งบนทางด่วนนี้ขั้นต่ำราว 8 หมื่นถึง 1 แสนคันต่อวัน หรือคิดเป็นเพียง 18% ของจำนวนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนเที่ยวรถที่วิ่งบนเส้นทางที่ให้บริการในปัจจุบันคือจากแจ้งวัฒนะ เข้ามาเขตกรุงเทพฯ (Sector A+Sector C) 3.8 แสนคัน หรือคิดเป็น 57% ของจำนวนประชากรในบริเวณใกล้เคียง (รวม 6.6 แสนคัน โดยรวมพื้นที่หลักสี่ จตุจักร บางซื่อ ดุสิต และดินแดง) กล่าวคือ สรุป เส้นทางใหม่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ BECL ได้อย่างน้อย 10% หรือเพิ่มกำไรเฉลี่ย 100-200 ล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยชดเชย ผลกำไรของ BECL ที่มีแนวโน้มตกต่ำ เนื่องจากต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้กับการทางพิเศษในอัตรา 60% ของรายได้นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2554 เป็นต้นไป จนหมดอายุสัมปทานในปี 2558 ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการกำไร และ Fair Value ปี 2554 ใหม่ โดยได้ปรับเพิ่มคำแนะนำจากเดิมถือ เป็น ซื้อ แล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา และมีแผนจะนำเสนอรายงานฉบับยาว หลังจากได้ข้อมูลจากผู้บริหารครบถ้วนในการประชุมกับผู้บริหารของ BECL ในเช้าวันจันทร์ ก่อนเลือกตั้งราว 2 สัปดาห์ น่าจะเป็นจังหวะของการสะสมหุ้น หากดัชนีปรับฐาน ดังที่ได้นำเสนอมาตลอดว่าจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ (Fund flow) มักจะไหลเข้าในช่วงต้นปี และจะไหลออกมากสุดในเดือน พ.ค. ของทุกปี แต่ยอดขายสุทธิจะเริ่มเบาบางลงเดือน มิ.ย. และจะกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือน มิ.ย. (ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 67%) และแรงซื้อสุทธิจะเกิดขึ้นต่อเนื่องนับจากนี้ พร้อมจะกลับเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญในเดือน ก.ค. (ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 83%) ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่เหตุการณ์ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. 2554 ทั้งนี้จากการศึกษาสถิติในอดีตพบว่าในช่วงเวลาก่อนการเลือกราว 2-4 สัปดาห์ ตลาดหุ้นไทย มักจะ Rally โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 2.9-5.4% ด้วยความน่าจะเป็นที่สูงราว 92% ซึ่งน่าจะเกิดจากเหตุการณ์เงินสะพัดก่อนการเลือกตั้งตามที่มีนักวิจัยได้ทำการศึกษา ดังนั้นในช่วงเวลานับจากนี้จนถึงวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 2554 คาดว่าดัชนียังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน ก็น่าจะเป็นเวลาของการสะสมหุ้น แรงขายต่างชาติยังมีอยู่ แต่จะเริ่มน้อยลงในปลาย พ.ค. ต่อเนื่องต้น มิ.ย. นี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเซีย อีกกว่า 1,832.49 ล้านเหรียญฯ นับว่าเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 อย่างไรก็ตามก็ตามพบว่าแรงขายเริ่มชะลอตัวลงและกลับมาเป็นยอดซื้อสุทธิในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้พบว่าตลาดหุ้นไต้หวันยังถูกขายสุทธิออกมามากที่สุดกว่า 1,026 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ตามด้วยตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่ถูกขายสุทธิ 231.2 ล้านเหรียญฯ และ 218.3 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ และเป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 เช่นกัน ส่วนตลาดเกาหลีใต้พบว่ามียอดขายสุทธิเบาบางลงเหลือ 192.8 ล้านเหรียญฯ และเป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 ขณะที่ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์พบว่ามียอดขายสุทธิเพียง 153.2 ล้านเหรียญฯ และเป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 แนวโน้มการไหลออกของ Fund Flow น่าจะชะลอตัวลง หลังจากได้มีการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเหตุการณ์ที่ต่างชาติเริ่มขายน้อยลงสอดคล้องกับผลการศึกษาของนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ (QA) ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นหากเชื่อว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นซ้ำรอย การที่ดัชนีปรับฐานในช่วงนี้จึงน่าจะเป็นจังหวะของการสะสมหุ้น คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ 3.00% ในวันพุธนี้ แต่คาดตลาดตอบรับไปแล้ว คาดว่าที่ประชุม กนง. 1 มิ.ย. นี้ จะมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 3% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีนี้ รวม 1% หรือเป็นครั้งที่ 7 นับจากปี 2553 รวม 1.75% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อที่สูงถึง 4.04% (เดือน เม.ย.) และคาดว่าเงินเฟ้อจะยังทรงตัวที่ระดับ 4% ในเดือนถัดไป แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดหุ้นน่าจะตอบรับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวไปแล้ว โดยทาง ASP คาดว่า กนง. จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกในการประชุมครั้งถัดไป คือวันที่ 13 ก.ค. อีก 0.25% สู่ระดับสูงสุด 3.25% ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเดียวกับที่ดอกเบี้ยนโยบายของเอเซียในหลายประเทศใกล้ระดับสูงสุดของวงจรขาขึ้นรอบนี้พอดี ตรงกันข้ามกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งคาดว่าเพิ่งเริ่มต้นสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น นำโดยธนาคารกลางจากยุโรป (ECB) ที่ได้นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% สู่ 1.25% ในเดือนเม.ย. และน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งน่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีความผันผวนมากยิ่งขึ้นในช่วง 2H54 สวนทางกับตลาดหุ้นเอเซียที่น่าจะผ่อนคลายจากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146 เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132 กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ โดย บมจ. หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2554