เฮ!ราคาน้ำมันถูกข้ามปี สินค้าลดราคา"ปตท.-เอสโซ่"ปรับแผนรับ
ผู้ใช้รถเฮ น้ำมันดิบดิ่งจ่อ 50 เหรียญ เปิดทางใช้กองทุนน้ำมันฯ ปรับอัตราจัดเก็บเงินใหม่ เบนซินลดรวด 2 บาท/ลิตร ดีเซล 1 บาท ปั๊มถูกหั่นค่าการตลาด 1 บาท ปี 58 หันโปรโมตเบนซิน 95 สูตรพรีเมี่ยมรับค่าการตลาดเพิ่ม ค่ายน้ำมันลุ้นน้ำมันดิบกระเตื้อง 70 เหรียญ
จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งลงมาแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงต้นปีที่ราคาใกล้ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งกลุ่มโอเปก (OPEC) การผลิตน้ำมันจากแหล่งเชลออยล์ (Shale Oil) ในสหรัฐ รวมถึงรัสเซีย ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อพยุงราคา อย่างน้อยจนกว่าจะสิ้นสุดไตรมาส 1/2558 เพื่อรักษาฐานตลาดไว้ การคาดการณ์ราคาน้ำมันในช่วงปี 2558 จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญของบริษัทผู้ค้าน้ำมันรวมถึงรัฐบาลที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ
ปีหน้าน้ำมันดิบไม่เกิน 70 เหรียญ
นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานการณ์น้ำมันดิบตลาดโลกในปี 2558 ว่า น่าจะอยู่ที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล ถือเป็นราคาที่อยู่ได้ทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อและผู้ค้า ปตท.เชื่อมั่นว่า ราคาน้ำมันปัจจุบันน่าจะลดลงมาถึง "จุดต่ำสุด" แล้ว หลังจากนี้น้ำมันดิบจะค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นมา และอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนสูง "จะเลิกกิจการไปบ้าง" ซึ่งทำให้ดีมานด์และซัพพลายกลับมาสู่จุดสมดุล
ส่วนค้าปลีกน้ำมัน ปตท.ในขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องปรับแผนหรือชะลอการลงทุน แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดมีแนวโน้มลดลง แต่เป็นราคาเชิงบวกของผู้บริโภค ประกอบกับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันภายในประเทศที่เกิดขึ้น มีผลโดยตรงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงทั้งระบบ จะทำให้ความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถูกลง ฉะนั้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในเครือ ปตท.จึงไม่จำเป็นต้องลดกำลังผลิต กลับต้องเดินเครื่องเต็มที่รองรับการใช้น้ำมันด้วยซ้ำ
"ในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบที่ 70 เหรียญน่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ผมว่าไม่น่ามีโอกาสกลับมาที่ 100 เหรียญ/บาร์เรลได้แล้วในปีหน้า ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกโรงกลั่นจะต้องปรับตัวและวางแผนการกลั่นให้คุ้มค่าที่สุด"
ปตท.สผ.วาง 3 สูตรลงทุน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล การจะขึ้นมาแตะ 80 เหรียญ/บาร์เรล "ผมว่าค่อนข้างยาก" โดย ปตท.สผ.ได้วางสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 3 ระดับ คือ กรณีราคาสูงกว่า 85 เหรียญ/บาร์เรลจะลงทุนตามปกติ กรณีราคาฐานที่ 70 เหรียญ ต้องเน้นลดค่าใช้จ่ายแต่ลงทุนตามความเหมาะสม กรณีราคาต่ำกว่า 55 เหรียญ/บาร์เรล ปตท.สผ.อาจจะต้องชะลอการลงทุนบางโครงการออกไป เช่น เมียนมาร์ M3 และโมซัมบิก
นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เห็นว่า การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในปีหน้า "เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก และเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้" สถานการณ์นี้จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการกลั่นด้วย ในความเป็นจริงโรงกลั่นน้ำมันจะให้ความสำคัญกับ "ค่าการกลั่น (GRM)" ว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ และต้องดู "ส่วนต่าง" ราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูปมากกว่า ทั้งนี้ภายใต้ราคาน้ำมันที่ผันผวน แต่ค่าการกลั่นปัจจุบันค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ดี
"บางจาก" ไม่ลดกำลังผลิต
นายวิเชียร อุษณโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล แต่ในช่วงต้นปียังมีโอกาสที่ราคาจะลดต่ำสุดได้ถึง 40 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำมันจากแหล่งเชลออยล์จริง ๆ 40-50 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้นสหรัฐจึงไม่ยอมลดกำลังผลิตลง เช่นเดียวกับกลุ่ม OPEC ที่ไม่ยอมลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อรักษาฐานตลาดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับลดลงมา ส่งผลให้ต้นทุนการสต๊อกน้ำมันของบางจากลดลง ที่สำคัญ "ค่าการกลั่น" ค่อนข้างดีคือ 6 เหรียญ/บาร์เรล โดยรวมบริษัทบางจากไม่ได้รับผลกระทบมาก
"โรงกลั่นน้ำมันบางจากยังเดินเครื่องตามปกติ ไม่จำเป็นต้องลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ภาพรวมราคาน้ำมันลดลงทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สิ่งที่โรงกลั่นในประเทศต้องปรับตัวก็คือ พฤติกรรมการใช้น้ำมันบางประเภทอาจเปลี่ยนไป เช่น น้ำมันบางเกรดมีความใกล้เคียงกัน อาจจะต้องปรับการกลั่นให้เพิ่มบางโปรดักต์มากขึ้น"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงสัปดาห์หน้า (29 ธ.ค. 57 -2 ม.ค. 58) ว่า น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสจะเคลื่อนไหวระหว่าง 53-58 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 58-63 เหรียญ/บาร์เรล แต่ยังต้องจับตาท่าทีของกลุ่ม OPEC และการผลิตน้ำมันของสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ทางการเงินระหว่างประเทศได้คาดการณ์ระดับราคาน้ำมันดิบที่จะมีผลต่อภาวะการอุดหนุนของระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC พบว่า ซาอุดีอาระเบียต้องการราคาน้ำมันดิบ 80 เหรียญ/บาร์เรล โอมานต้องการถึง 100 เหรียญ/บาร์เรล จะเป็นตัวกดดันให้กลุ่ม OPEC ต้องลดกำลังผลิตน้ำมันดิบให้เหมะสมกับภาวะเศรษฐกิจของตนเอง
บ.น้ำมันหันทำตลาดสูตรพรีเมี่ยม
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 60 เหรียญ/บาร์เรลกลายเป็นช่องทางสำคัญให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ โดยไม่กระทบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมราคาขายปลีกน้ำมัน โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลงมาในระดับที่ผู้บริโภคพอใจ กล่าวคือ เบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 37.36 บาท/ลิตร (เดิม 39.36 บาท/ลิตร), แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 30.30 บาท/ลิตร (32.30 บาท/ลิตร), แก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 28.28 บาท/ลิตร (30.28 บาท/ลิตร), E20 ราคา 26.98 บาท/ลิตร (28.98 บาท/ลิตร), E85 ราคา 22.48 บาท/ลิตร (22.68 บาท/ลิตร) และน้ำมันดีเซลเหลือ 26.89 บาท/ลิตร (ในอดีตตรึงราคาด้วยการยกเว้นจัดเก็บภาษีสรรพสามิตไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร)
ส่วนวิธีการปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลงมานั้น รัฐบาลได้อาศัย "กลไก" ในการปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กับปรับลดในส่วน "ค่าการตลาด" ของผู้ค้าน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ยกตัวอย่าง แก๊สโซฮอล์ 91 ลดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนจาก 2.9500 บาท เหลือ 1.9500 บาท/ลิตร หรือลดลง 1 บาท/ลิตร กับลดค่าการตลาดจาก 2.7414 บาท/ลิตร เหลือ 1.8722 บาท/ลิตร หรือลดลง 0.8692 บาท/ลิตร มีผลให้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ลดลงถึง 2 บาท/ลิตร เช่นเดียวกันกับแก๊สโซฮอล์ 95, E20 และเบนซินออกเทน 95
แหล่งข่าวในบริษัทผู้ค้าน้ำมันกล่าวถึงการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศด้วยการปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กับลดค่าการตลาดของผู้ค้า มีผลในแง่กำไรต่อหน่วยจากค่าการตลาดลดลง เช่น E20 เดิมค่าการตลาดอยู่ที่ 2.4381 บาท/ลิตร แต่หลังจากปรับลดค่าการตลาด ผู้ค้าได้รับค่าการตลาด 1.4834 บาท/ลิตร หรือค่าการตลาดหายไปเกือบ 1 บาท/ลิตร (0.9547 บาท/ลิตร) เป็นต้น
ดังนั้นแนวทางในการทำตลาดขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2558 บริษัทผู้ค้าน้ำมันอาจจะเปลี่ยนไป โดยพบว่า E85 มีค่าการตลาดสูงถึง 2.7515 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ยังคงมีค่าการตลาดสูงถึง 3.8801 บาท/ลิตร
"หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงค่าการตลาดทางออกบริษัทผู้ค้าน้ำมันคือ ทำตลาดในส่วนน้ำมันสูตรพรีเมี่ยมหรือสูตรพลัส เพราะถูกตั้งราคาจำหน่ายไว้สูงกว่าราคาปกติ แถมยังมีค่าการตลาดสูง ส่วนการทำตลาด E20 ยังคงมีต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91-95 ก็มีการปรับลดค่าการตลาดลงมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันกับ E20" แหล่งข่าวกล่าว
ลดดีเซลทุบต้นทุนสินค้าต่ำ 1 ส.ต.
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงการศึกษาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้าพบว่า ราคาดีเซลที่ปรับลดลง (26.89 บาท/ลิตร) มีผลต่อต้นทุนขนส่ง-การผลิตสินค้าลดลง 0.01-0.7% ต่อหน่วย หรือไม่ถึง 1 สตางค์ ถือว่า "มีสัดส่วนน้อยมาก" โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น สบู่, ยาสีฟัน, ผงซักฟอก ซึ่งน้ำมันไม่ใช่ต้นทุนสำคัญเพียงอย่างเดียวในการผลิตสินค้า ถึงแม้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศจะลดลง สินค้าไม่สามารถปรับราคาลงตามได้ทันที
"เราจะติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ทางกรมการค้าภายในมีมาตรการรองรับและดูแลในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งมาตรการด้านการบริหารจัดการ มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมาย คอยดูแลหรืออาจเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมาหารือต่อไป เพื่อติดตามว่าทิศทางราคาเป็นอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง" นายบุญยฤทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการ "ทบทวน" บัญชีรายการสินค้าในการกำกับดูแล เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) คาดว่าจะจัดประชุมในช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 ในประเด็นที่ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเพิ่มหรือถอดสินค้าใดออกจากบัญชีสินค้าควบคุมหรือไม่อย่างไร