กสิกรฯคาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าซึมก่อนหยุดยาว ชี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ว่า เงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อยจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของกลุ่มผู้นำเข้า และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก อย่างไรก็ดี ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังคงเป็นกรอบแคบๆ ท่ามกลางธุรกรรมที่เบาบางในช่วงก่อนสิ้นปี ประกอบกับตลาดต่างประเทศหลายแห่งปิดทำการในระหว่างสัปดาห์เนื่องในเทศกาลคริสต์มาส
ในวันศุกร์ (26 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.91 เทียบกับระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ธ.ค.)
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (29-30 ธ.ค. 2557) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาการปรับโพสิชั่นก่อนช่วงสิ้นปี และผลการโหวตเลือกประธานาธิบดีรอบที่สุดท้ายของรัฐสภากรีซ (29 ธ.ค.) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะรายงานในระหว่างสัปดาห์ (29 ธ.ค. 2557-2 ม.ค. 2558) ประกอบด้วย ดัชนี PMI เขตชิคาโก ดัชนี ISM ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. และยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. ซึ่งหากตัวเลขยังคงมีภาพเชิงบวก ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องสำหรับเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางประเด็นปัญหาของรัสเซียและทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่น่าจะยังคงเป็นจุดสนใจของตลาดต่อไป
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับลดลงจากแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงก่อนวันหยุดยาวสิ้นปี โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,510.41 จุด ลดลง 0.26% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 49.92% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,236.41 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 697.69 จุด ลดลง 2.72% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ หลังมีแรงซื้อจากกองทุน LTF/RMF
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (29-30 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด และบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนียังคงมีโอกาสซึมลง เนื่องจากขาดปัจจัยหนุน หลังนักลงทุนต่างชาติชะลอการซื้อขายก่อนเทศกาลวันหยุด ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต (ISM Manufacture) และเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธ.ค. ของยูโร