"พลังงาน"สั่ง ปตท.ทบทวนราคา NGV ชี้ 16บ./กก. สูงไป
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปี 2558 สนพ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานในการหากลไกการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV อย่างไรก็ตาม จากระดับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่ปรับตัวลดลงมากจากเดือน พ.ย. 57 เฉลี่ย 558 เหรียญสหรัฐต่อตันลงมาเฉลี่ย 500 เหรียญต่อตันเดือน ธ.ค. ทำให้กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ บมจ.ปตท.ไปศึกษาต้นทุนราคา NGV ใหม่ จากเดิมกำหนดไว้ว่าราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นอยู่ที่ 16 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)
“ราคา LNG ที่ลดลงรวมถึงระดับราคาน้ำมันที่ลด ก็จะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดตามด้วย ดังนั้น การคำนวณราคา NGV เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างให้สะท้อนต้นทุนที่ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท. เสนอว่าราคา NGV ที่ปัจจุบันอยู่ 11.50 บาทต่อ กก. ควรสะท้อนตามราคาที่แท้จริง คือ ควรเป็น 16 บาทต่อ กก. ก็คงจะไม่ถึง ปตท. ก็จะต้องกลับไปพิจารณาว่าเท่าใดแน่ แล้วเสนอมาเพื่อดูอีกที
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ปตท.ไปพิจารณาปรับเพิ่มจำนวนปั๊ม NGV ให้เพิ่มขึ้นด้วยเพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างทั่วถึงเพื่อให้สอดรับการปรับขึ้นราคา NGV ให้สะท้อนกลไกราคาที่แท้จริง” นายชวลิตกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างราคา LPG หลังจากที่ได้มีการทยอยปรับราคาจนทำให้ราคาของภาคครัวเรือน ขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นราคาเดียวที่ 24.16 บาทต่อ กก.แล้ว รวมถึงได้มีการปลดล็อกราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่กำหนดไว้ตายตัวที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตันมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องมาพิจารณาต้นทุนราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ต้นทุนโรงกลั่นและการนำเข้า โดย 3 ส่วนนี้มาคำนวณและกำหนดราคาให้เป็นต้นทุนเฉลี่ยที่ออกมาเป็นธรรม และที่สำคัญต้องเป็นราคาที่ประชาชนรับได้ด้วย ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้จะมีการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน
โดยแนวทางการปรับโครงสร้างคือราคาควรจะเป็นราคาเดียว เพราะหากราคาใดสูงกว่าจะเกิดปัญหาการลักลอบการใช้ข้ามประเภท ดังนั้นกลไกที่ สนพ.กำลังพิจารณาเบื้องต้นขณะนี้ก็คือ LPG ภาคขนส่งนั้นถือเป็นการใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะปล่อยมลภาวะและทำลายถนน แต่การจะทำให้ราคาต่างกันก็จะไปติดปัญหาการลักลอบอีก จึงมองไปที่การดูแลเรื่องค่าการตลาดเข้ามาเนื่องจากขณะนี้พบว่าค่าการตลาด LPG ขนส่งค่อนข้างสูงมาก ขณะที่ภาคครัวเรือนเองมีค่าใช้จ่ายเรื่องของถัง การดูแลถัง ค่าบริหารจัดการภาพรวมที่สูงกว่า จุดนี้จึงจะต้องมาดู
“เราจะเข้ามาใช้กลไกค่าการตลาดดูแลซึ่งจะบอกว่าเราจะบีบปั๊ม LPG ทางอ้อมก็คงจะไม่ถูกซะทีเดียว เราต้องมองว่าขณะนี้ LPG ขนส่งนั้นได้เปรียบกว่าอื่นๆ เพราะค่าการตลาดสูงนี่จึงเป็นเหตุให้ปั๊ม LPG เกิดขึ้นมาก และเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน LPG ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก นอกจากนี้ เราจะต้องมาดูเรื่องของภาษีสรรพสามิต LPG ด้วย เพราะในเมื่อน้ำมันก็จ่ายก็ควรจะต้องจ่ายอย่างไรให้เหมาะสม” นายชวลิตกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบัน ถือว่าทำมาได้เกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการพิจารณาอีกเล็กน้อยในเรื่องของอัตรานำเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ยังมีความจำเป็นอยู่ โดยส่วนหนึ่งจะต้องโยกไปให้กับภาษีสรรพสามิตดีเซลที่รัฐมีเป้าหมายจะกลับมาเก็บระดับ 4 บาทกว่าต่อลิตร ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ก็คงจะโยกเงินกองทุนฯ ไปได้ตามแผนที่วางไว้ ที่เหลือก็จะต้องสะสมเงินไว้รองรับในระดับที่เหมาะสม เพื่อไว้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและการบริหารพลังงานทดแทน ซึ่งแม้ว่าวันนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลงเฉลี่ยมาอยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรลก็ตามแต่อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน