การ์ตูน MaoInvestor ตอน'ข่าวลือข่าวลวง'

การ์ตูน MaoInvestor ตอน'ข่าวลือข่าวลวง'

การ์ตูน MaoInvestor ตอน'ข่าวลือข่าวลวง'
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในเหตุผลที่นำมาซึ่งผลขาดทุนของนักลงทุนทั้งหลายคือ การซื้อขายตาม “ข่าวลือ”

ข่าวลือ คือข่าวที่พูดกันทั่วไป แต่ยังไม่มีอะไรยืนยันได้แน่นอน ซึ่งในทางการเงิน ความไม่แน่นอนคือความเสี่ยง

ข่าวลือในตลาดหุ้นมีสารพัดเรื่อง เช่น จะมีการเพิ่มทุน จะแจกใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrant) จะประมูลโครงการใหญ่สำเร็จ จะซื้อหรือควบรวมกิจการ เป็นต้น ถ้าผู้ลงทุนหลงเชื่อในสิ่งที่ได้ยินทุกเรื่อง โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนซื้อขายหุ้นตัวใดก็ตาม มีโอกาสที่จะขาดทุนมากกว่าโอกาสที่จะได้กำไรแน่นอน

หลายครั้งที่นักลงทุนได้รับข้อมูลจากการบอกต่อกันมา โดยอ้างว่ามีแหล่งที่มาจากคนในบริษัทนั้นๆ อินไซด์สุด ๆ มักจะใช้คำพูดว่า “ข่าวจากคนในเลยนะเนี่ย” “ข่าวอินไซด์ รู้กันไม่กี่คนหรอก” เช่น มีข่าวว่าบริษัท A กำลังจะได้งานประมูลชิ้นใหญ่ ซึ่งจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ (อย่าเพิ่งเคลิ้ม เพราะเป็นแค่เรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น) ซึ่งอนาคตจะเป็นจริงตามข่าวหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือ คนที่ได้รับข่าวนั้นก็แห่กันเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้น เพื่อเก็งกำไร ซึ่งตามหลักอุปสงค์อุปทาน เวลาที่มีคนต้องการหุ้นตัวใดมาก ๆ จะเกิดการแย่งกันซื้อ ราคาจะดีดตัวสูงกว่าความเป็นจริง แต่ในเวลาต่อมา ก็มีข่าวใหม่ออกมาอีกว่าไม่ได้งานประมูลแล้วผลก็คือราคาร่วงกลับมาที่เดิม คนที่หลงเข้าไปซื้อตอนราคาสูงก็เกิดอาการ “ติดดอย” กันถ้วนหน้า

ดังนั้น หากใครเขามาปล่อยข่าว(ดี) แบบนี้ ให้เช็คข้อมูลให้ดีเสียก่อน เพราะเขาคนนั้นอาจจะซื้อหุ้นของบริษัทตุนไว้จนเต็มพอร์ตแล้วแล้วค่อยมาสร้างข่าวว่าหุ้นตัวนั้นจะดี เพื่อให้รุมกันซื้อและราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นจนเป็นที่พอใจ แล้วเขา(คนเดิม) ก็จะขายทำกำไร

ในส่วนของ ก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบ หากพบว่าผู้ใดมีพฤติกรรมการปล่อยข่าวเท็จที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นหรือต่ำลง หรือผู้ใดก็ตามที่ซื้อขายหุ้นในลักษณะที่นำไปสู่สภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติจนทำให้คนอื่นหลงผิด ผู้นั้นอาจเข้าข่ายมีความผิด ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ

ถึงแม้ทางการจะมีมาตรการที่เข้มงวดขนาดไหน ผู้ลงทุนควรต้องปกป้องตนเอง โดยการไม่หลงเชื่อข่าวลือง่ายๆ ควรใช้วิจารณญาณในการบริโภคข่าวและหาทางตรวจสอบความถูกต้องของข่าวนั้น ๆ ด้วย เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เชื่อข่าวลือแบบปากต่อปาก แต่แหล่งข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังเคยเสนอข่าวผิดหลายครั้ง แหล่งข้อมูลที่จะช่วยยืนยันได้ว่าข่าวนั้นเป็น ข่าวลือ หรือ ข่าวกรอง ก็คือเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. www.sec.or.th และเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th ถึงอาจจะไม่รวดเร็วทันใจดุจข่าววงใน แต่ก็เชื่อถือได้แน่นอน

พึงระลึกไว้เสมอว่า ตกรถดีกว่าติดดอย นะจ๊ะ


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook