ฟองสบู่คอนโดตจว.แผลงฤทธิ์! "แสนสิริ-เอพี"พับแผนอุดร-พัทยา

ฟองสบู่คอนโดตจว.แผลงฤทธิ์! "แสนสิริ-เอพี"พับแผนอุดร-พัทยา

ฟองสบู่คอนโดตจว.แผลงฤทธิ์! "แสนสิริ-เอพี"พับแผนอุดร-พัทยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟองสบู่คอนโดฯต่างจังหวัดก่อตัว หลังปี"55-56 กระหน่ำเปิดโครงการ "แสนสิริ-เอพี" พับแผนลงทุน 2 ทำเล "อุดร-พัทยา" ผู้บริหารแจงรีโมเดลธุรกิจรอจังหวะรัฐลงทุนเมกะโปรเจ็กต์-เปิดเออีซี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบกับโครงการคอนโดมิเนียมที่ขยายการลงทุนในต่างจังหวัดชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากปี 2555-2556 ผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพฯแข่งกันลงทุนในหัวเมืองต่างจังหวัดจำนวนมาก โดยประเมินว่าเพื่อรองรับกับนโยบายลงทุนรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลชุดก่อน ท่ามกลางคำถามว่าดีมานด์คนต่างจังหวัดที่ซื้อคอนโดฯเพื่ออยู่เองจริง ๆ มีจำนวนแค่ไหน เนื่องจากบางโครงการสร้างกระแสทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ด้วยการปิดการขายได้ภายใน 1-3 วัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคอนโดมิเนียมเดอะเบส เซ็นทรัล อุดรฯ ของ บมจ.แสนสิริ ได้ส่งจดหมายถึงลูกค้าเพื่อยุติการพัฒนาโครงการและคืนเงินจองให้ลูกค้าพร้อมดอกเบี้ย

พับแผนเดอะเบสอุดรฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท พิวรรธณา จำกัด ที่มี บมจ.แสนสิริถือหุ้น 100% ได้ส่งหนังสือถึงลูกค้าที่ซื้อห้องชุดในโครงการคอนโดฯ เดอะ เบส เซ็นทรัล อุดรธานี ถนนประจักษ์ ใกล้ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ เปิดขายเมื่อปี 2556 มีกำหนดโอน 1 กรกฎาคม 2559 สาระสำคัญคือแจ้งขอคืนเงินจองและเงินดาวน์ให้ลูกค้า พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี บริษัทจำเป็นต้องยุติการพัฒนาโครงการเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง

แหล่งข่าวจากผู้ซื้อห้องชุดรายหนึ่งในโครงการเดอะเบส เซ็นทรัล อุดรธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงปลายปี 2556 ได้จ่ายเงินจองและทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ราคาประมาณ 2.6 ล้านบาท ผ่อนดาวน์ไปแล้ว 14 งวด รวมกว่า 1 แสนบาท ตั้งใจซื้อไว้ลงทุนปล่อยเช่า หรือหากปล่อยเช่าไม่ได้ก็จะให้คนในครอบครัวอยู่ปรากฏว่าเมื่อ 8 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับจดหมายจากบริษัท พิวรรธนา จำกัด ในเครือแสนสิริชี้แจงว่า จำเป็นต้องยุติการพัฒนาโครงการ มีข้อเสนอจะคืนเงินหรือให้เลือกเปลี่ยนไปซื้อโครงการทำเลอื่นในเครือแสนสิริ

"พอได้รับแจ้งจากแสนสิริก็รู้สึกงงว่าทำไมถึงต้องหยุดพัฒนาโครงการ เพราะทราบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายว่ามียอดขายแล้ว 60% หลังจากนี้กำลังตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนไปซื้อโครงการอื่นของแสนสิริ หรือรับเงินคืน" แหล่งข่าวกล่าว

แสนสิริแจงรโมเดลธุรกิจ

นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาโครงการแนวสูง บมจ.แสนสิริ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ยุติการพัฒนาโครงการเดอะเบส เซ็นทรัล อุดรธานี และคืนเงินจอง-เงินดาวน์ให้ลูกค้า เพราะแสนสิริมองถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจ จึงปรับแนวทางดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับปัจจัยบวกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในสิ้นปี 2558 การพัฒนาโครงการด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับในปี 2558

นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศแผนธุรกิจเอ็นจิเนียริ่ง ฟอร์ โกรท (Engineering for Growth) หรือเซตระบบองค์กรใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน โดยมีแนวทางดำเนินธุรกิจที่เน้นการสร้างศักยภาพให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน จึงทำให้บริษัทชะลอแผนการพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อมั่นในกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทุกคอนโดฯโครงการแรกของแสนสิริในแต่ละจังหวัดมีการก่อสร้างเสร็จและโอนโครงการตามกำหนดเวลาที่แน่นอน

รอเมกะโปรเจ็กต์รัฐ+AEC

นายอุทัยกล่าวต่อว่าสำหรับภาวะการซื้อขายคอนโดฯในจังหวัดอุดรธานียังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โครงการที่เปิดขายทั้งของแสนสิริและดีเวลอปเปอร์รายอื่นยังคงมียอดขายต่อเนื่อง โดยโครงการเดอะเบส ไฮท์ อุดรฯ ที่แสนสิริเปิดขายโครงการแรกในจังหวัดอุดรธานี จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามกำหนดภายในไตรมาส 4 ปีนี้

ส่วนการพัฒนาโครงการในตลาดต่างจังหวัดยังมีแผนต่อเนื่อง เนื่องจากเล็งเห็นความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งต้องการเป็นส่วนหนึ่งการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แผนการรุกธุรกิจอาจปรับเปลี่ยนการลงทุนในแนวทางที่เหมาะสมกับปัจจัยบวกต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยบวกในอนาคต อาทิ เปิดเออีซี ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน บมจ.แสนสิริมีคอนโดฯเปิดขายในอุดรฯ 2 โครงการ เปิดตัวปี 2556 คือ 1.เดอะเบสไฮท์ อุดรฯ จำนวน 408 ยูนิต ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 1.9 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะโอนภายในไตรมาส 4/58 2.เดอะเบส เซ็นทรัล อุดรฯ จำนวน 573 ยูนิต ที่เพิ่งจะยุติการพัฒนา

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนคอนโดฯต่างจังหวัด นับจากปลายปี 2554-2556 แสนสิริเปิดโครงการไปแล้ว 11 จังหวัด อาทิ อุดรฯ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต ฯลฯ รวมประมาณ 40 โครงการ อย่างไรก็ตาม ปี 2557 เริ่มชะลอพัฒนาโครงการตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงประกาศแผนเพิ่มทุนครั้งใหญ่ 8.2 พันล้านบาทเศษ

ทั้งนี้ยังพบว่า บมจ.แสนสิริยุติการขายโครงการเดอะเบส ศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น 337 ยูนิต ขณะที่ผู้บริหารแสนสิริปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติม

อสังหาฯอุดรชะลอตัว

นายนิพนธ์ชัยวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านกลางกรุง จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ใน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ปี 2558 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอุดรธานีมีแนวโน้มทรงตัว คาดการณ์โครงการเปิดตัวใหม่จะลดลง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการทยอยเปิดตัวใหม่จำนวนมาก สวนทางกับอัตราการขายที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี 2557 สาเหตุมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ผู้บริโภคมีเงินใช้จ่ายน้อยลงและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ธนาคารก็เริ่มเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

นายนิพนธ์คาดการณ์ว่า ตลาดบ้านแนวราบยังไปได้ แม้แรงซื้อจากผู้บริโภคจะชะลอตัวลงไปบ้าง ต่างจากคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เพราะสินค้ายังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนอุดร โดยขณะนี้หลายโครงการทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เท่าที่สำรวจพบว่าอัตราการโอนค่อนข้างต่ำ

"ปีนี้ยังมองไม่เห็นสัญญาณบวกตลาดอสังหาฯในอุดรฯ รอประเมินถึงกลางปีนี้ คิดว่าตลาดยังไม่ได้แรงหนุนจากเออีซี ยังต้องรออีก 1-2 ปี ทำให้คนซื้อบ้าน-คอนโดฯยังเป็นลูกค้าท้องถิ่นเป็นหลัก อาจจะมีกลุ่มลูกค้าจากกรุงเทพฯเข้ามาซื้อบ้าง สิ่งน่าห่วงที่สุดคงเป็นเรื่องกำลังซื้อผู้บริโภคและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่วนแรงงานไม่ได้ขาดแคลน แต่แรงงานคุณภาพหายากขึ้น" นายนิพนธ์กล่าว

เอพีชะลอคอนโดฯพัทยา

แหล่งข่าวจาก บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2556 เอพีเปิดตัวคอนโดฯ 3 จังหวัด คือ อุดรฯ พิษณุโลก พัทยา ความคืบหน้าโครงการในอุดรฯมียอดขาย 70% จาก 413 ยูนิต, พิษณุโลก 60% จาก 448 ยูนิต ส่วนพัทยามียอดขาย 20% จาก 476 ยูนิต เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการขายโครงการที่พัทยาและคืนเงินจอง-เงินดาวน์ลูกค้า เพื่อรอประเมินภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง

"ยอมรับว่าภาพรวมตลาดคอนโดฯในบางจังหวัดมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายเพราะผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการมากเกินไป และมีนักเก็งกำไรเข้ามาซื้อ 10-20% แต่ยังไม่ถึงขั้นทำให้ฟองสบู่แตก เนื่องจากผู้ประกอบการได้ชะลอพัฒนาโครงการใหม่ตั้งแต่ปี 2557 แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook