ก.พลังงานเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

ก.พลังงานเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

ก.พลังงานเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 แม้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นด้วย โดย นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานเตรียมเปิดแถลงข่าวบ่ายนี้

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานและ สมาชิกสภาปฎิรูปด้านพลังงาน หรือ สปช. กล่าวในรายการ”Biz Time” โดย สำนักข่าวไทย ว่า หลังจากที่ประชุม สปช.วานนี้มีมติเกี่ยวกับการศึกษาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ซึ่งมี 2 มติ คือมติแรกเห็นชอบส่งรายงานการศึกษาของ สปช.ด้านพลังงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้รัฐบาล และมติที่ 2 คือไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของ คณะทำงาน สปช.ด้านพลังงาน

นายคุรุจิต กล่าวว่า ทาง สปช.พลังงาน ศึกษา 3 ประเด็น คือ 1.ให้เปิดสัมปทานรอบ21 ใช้ระบบสัมปทานประเทศระบบที่3 หรือไทยแลนด์ทรี  2. ยกเลิกสัมปทาน21แล้วให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี และ 3. เปิดสัมปทานรอบ21 ใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส หรือระบบที่3 พิเศษ และให้ศึกษาระบบพีเอสซีว่าสมควรจะใช้ในการประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบต่อไปหรือไม่ ซึ่ง สปช.พลังงานได้เลือกข้อสรุปที่3 ส่งต่อให้รัฐบาล

“ทางกระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าตามรัฐบาล โดย การศึกษาเรื่องนี้เป็นไปตามที่รัฐบาลส่งมาให้สปช.ศึกษาหลังประกาศปิดสัมปทานรอบ 21ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค.57 และเห็นว่า สัมปทานรอบ21 ควรเปิดตามที่ประกาศไปแล้วเพราะเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากแหล่งก๊าซที่พิสูจน์แล้วในไทยจะหมดในอีกไม่ถึง7 ปี และศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยไม่สมบูรณ์มากนักหากเสนอผลประโยชน์รัฐสูงเกินไปก็จะไม่จูงใจการลงทุนสุดท้ายจะกระทบต่อประชาชนหากไม่มีการลงทุนก็ต้องนำก๊าซเข้ามาทั้งหมดกระทบค่าไฟฟ้า”นายคุรุจิตกล่าว

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในขณะนี้การเปิดสัมปทานรอบ21 ก็ยังเป็นไปตามมติ ครม. โดยจะปิดรับข้อเสนอในวันที่ 18 ก.พ.2558 เช่นเดิม โดยมีผู้สนใจมาขอดูข้อมูลทั้งรายเก่าและรายใหม่นับสิบราย ซึ่งจะมีการยื่นขอมากน้อยแค่ไหนคงจะต้องรอดูช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดรับข้อเสนอ

นางพวงทิพย์ยืนยันว่าระบบสัมปทานรอบ21 ผลประโยชน์ของรัฐไม่น้อยกว่าพีเอสซี โดยแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนในสัดส่วนร้อยละ72ต่อ28หลังหักจากค่าใช้จ่ายไปแล้ว และการดำเนินการไม่ซ้ำซ้อน โปร่งใสกว่าเพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐประกาศ แต่พีเอสซีต้องแก้กฏหมายตั้งองค์กรใหม่มาเจรจารายสัญญากับเอกชน หลังอนุมัติโครงการแล้วทุกสัญญาของเอกชนที่จะไปว่าจ้างต่อต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรใหม่ที่จะจัดตี้งขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าและอาจเป็นช่องโหว่ของการแสวงหาผลประโยชน์ได้

ทั้งนี้ สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 กระทรวงพลังงานประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบก และในทะเลอ่าวไทย จำนวน 29 แปลง  ประกอบด้วย   แปลงบนบก  23  แปลง  แบ่งเป็นภาคเหนือและภาคกลาง  6  แปลง  พื้นที่  5,458.91  ตารางกิโลเมตร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  17  แปลง  พื้นที่  49,196.40  ตารางกิโลเมตร. ส่วน แปลงในทะเลอ่าวไทย  จำนวน  6  แปลง  พื้นที่  11,808.20  ตารางกิโลเมตร

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook