Shinjuku Outlet ธุรกิจเสื้อผ้า กับราคาเบาๆ…ขีดละ 30 บาท

Shinjuku Outlet ธุรกิจเสื้อผ้า กับราคาเบาๆ…ขีดละ 30 บาท

Shinjuku Outlet ธุรกิจเสื้อผ้า กับราคาเบาๆ…ขีดละ 30 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

    เพียง 2 ปี ก็ขยายกิจการได้ถึง 10 สาขา และ ณ วันนี้ ยังมีการขยายสาขาออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นเติบโตที่น่าจับตามองอย่างมาก สำหรับร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่น-เกาหลี “Shinjuku Outlet” ซึ่งหากฟังดูเผินๆแล้วเหมือนจะไม่มีอะไรแปลกใหม่ อีกทั้งในตลาดแฟชั่นสไตล์เกาหลี-ญี่ปุ่น มีการแข่งขันค่อนข้างสูงจากการที่มีผู้เล่นจำนวนมาก จึงน่าสนใจไม่น้อยว่า อะไรคือปัจจัยทำให้เกิดธุรกิจตัวนี้เติบโตได้ในระยะเวลาอันสั้น
   
    ไตรรงค์ ไกรสุรพงศ์ เจ้าของร้านอธิบายว่า Shinjuku Outlet ได้รับการออกแบบเป็นร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแบบชั่งกิโลขาย ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ดังได้ในราคาเพียงขีดละ 30 บาท บวกกับความนิยมในแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่น-เกาหลี ทำให้ร้านได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ด้วยเป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่เหมือน

    “โดยปกติ เสื้อผ้าของเกาหลี ญี่ปุ่น หรืออเมริกา เมื่อหมดฤดูกาลก็จะมีการเคลียร์สินค้าออกจากห้างหรือช็อปทั้งหมด เราก็มีโอกาสได้ไปเห็นว่ามีธุรกิจหนึ่งที่ญี่ปุ่น รับซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้แล้วนำมาขายในลักษณะค้าปลีก ขณะเดียวกันก็จะมีการรับซื้อเสื้อผ้ามือสองจากคนทั่วไป โดยจะคัดเลือกเฉพาะเสื้อผ้าแบรนด์ดีมีคุณภาพ วิธีการขายก็มีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะขายเป็นตัว ขายเป็นน้ำหนัก และขายเป็นตะกร้า เราก็นำคอนเซปต์เดียวกันนี้มาต่อยอด แต่เราจะเป็นผู้ขายอย่างเดียว ไม่มีการรับซื้อ และเลือกเอาวิธีชั่งน้ำหนักมาเป็นจุดเด่น ซึ่งการขายแบบนี้มักนิยมในการขายส่ง แต่เมื่อเราประยุกต์มาใช้กับการขายปลีก ธุรกิจจึงเกิดความน่าสนใจ โดยในเมืองไทยไม่เคยมีธุรกิจแบบนี้มาก่อน เป็นโมเดลของญี่ปุ่น แต่ถูกปรับให้เข้ากับบ้านเรา” 

   
    ทั้งนี้ เพราะปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักเพื่อนที่ทำธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้า บวกกับตัวเขาเองก็มีพื้นที่ว่างสำหรับเปิดร้าน Shinjuku Outlet สาขาแรกจึงเริ่มก่อตั้งขึ้นในย่านทาวน์อินทาวน์ โดยเปิดดำเนินกิจการได้เพียงไม่นาน ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แม้ร้านจะมีขนาดเล็กและตั้งอยู่ในซอยลึก ทว่าก็มีผู้คนแวะเวียนมาเลือกซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ดังไม่ขาดสาย

    “ในช่วงแรกต้องใช้วิธีศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคพอสมควร เพราะเป็นสิ่งใหม่จำต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม ซึ่ง Value หลักๆ ของธุรกิจเสื้อผ้าคือ ต่อให้แบรนด์ไม่ดัง ถ้าจับแล้วชอบ ใส่แล้วสวย ราคาจับต้องได้ ไม่ว่าคนระดับไหนก็ควักกระเป๋าจ่ายเหมือนกัน นำมาสู่การออกแบบให้เป็นขีดละ 30 บาท เพราะเป็นตัวเลขที่จำง่าย สอดคล้องกับโครงสร้างราคา และดูสมเหตุสมผล เป็นกิมมิคของการขาย เพื่อให้รู้สึกว่าไม่แพงนะ จับต้องได้นะ เมื่อมีคนถามก็จะมีการบอกต่อว่าขายเป็นขีด คนฟังก็จะก็คิดต่อว่าขายอย่างไร จะสวยหรือเปล่า คือเขาจะมีคำถามต่อซึ่งทำให้อยากมาดู อยากมาเลือก หลังจากซื้อไปก็จะไปบอกเพื่อนว่ามีแบบนี้อยู่ เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลูกค้าที่มาเกือบทั้งหมด เรากล้ายืนยันเลยว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะกลับมาอีก และ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าทั้งหมดมาจากการบอกต่อ” 
 

    ทั้งนี้ ด้วยพฤติกรรมของผู้คนในปัจจุบัน มีแนวโน้มในการเปลี่ยนเสื่อผ้าเร็วขึ้น ราคาสูงต่ำไม่ใช่ส่วนสำคัญ กล่าวคืออารมณ์และความรู้สึกเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจซื้อ จึงสอดคล้องกับโครงสร้างราคา และความหลากหลายของเสื้อผ้า ส่งผลให้  Shinjuku Outlet สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

    “ด้วยความหลากหลายของเสื้อผ้า ทำให้เรามีลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มองหาความแตกต่าง สร้างบุคลิกให้กับตัวเองด้วยสไตล์การแต่งตัว ด้วยในจำนวนหลายหมื่นหลายพันตัว จะมีเสื้อผ้าไม่น้อยที่เหมาะสมสำหรับเขา Shinjuku Outlet จึงสามารถตอบโจทย์กลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมมองว่ากลุ่มนี้จะมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ก็สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราที่ต้องการให้ทุกคนจับต้องได้ อยู่ในราคาที่ทุกคนพอใจ ซื้อได้โดยไม่ต้องคิดว่าแพง ไม่ต้องคิดมากว่ารายจ่ายส่วนนี้มีผลกระทบกับความเป็นอยู่มากแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ลูกค้าพอใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โครงสร้างราคาสามารถปรับให้มากกว่านี้ได้ แต่เราไม่ทำ”   
    
    อย่างไรก็ตาม ไตรรงค์เปิดเผยว่า ลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันเป็นอุปสรรค์ในการขายช่วงแรก ด้วยความที่เสื้อนำเข้าจากญี่ปุ่น-เกาหลี ส่วนหนึ่งเป็นเสื้อกันหนาว หรือมีลักษณะกึ่งหนาว ทว่าเมื่อเริ่มลองผิดลองถูกในตลาดได้สักระยะ เขาก็เริ่มรับรู้วงจรของธุรกิจว่า ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเสื้อผ้าหน้าร้อนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในช่วงฤดูหนาว เสื้อผ้าเหล่านี้จะได้รับความนิยม ฉะนั้น หากสามารถจับทางได้ว่าฤดูไหนควรขายอะไร แล้วนำเสนอให้ถูกเวลา บริหารสต็อกให้ถูก ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
 

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/shinjukuoutlet
 
    “ข้อดีของการเป็นธุรกิจที่แตกต่าง คือเราจะไม่มีคู่แข่งโดยตรง ฉะนั้น แม้ในช่วงแรกจะหกล้มบ้าง แต่เราลุกขึ้นมาวิ่งต่อได้ และไม่กังวลในเรื่องการแข่งขันมากนัก และหากมองตลาดเสื้อผ้าของเมืองไทย โดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างใหญ่ มีผู้เล่นรายย่อยมากถึงเกือบแสนราย แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของตลาดอย่างแท้จริง ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ใครก็สามารถเข้ามาสู่ตลาดตรงนี้ได้ ใครมีไอเดีย ใครมีช่องทาง ใครมีสินค้า ก็สามารถกำไรได้ ดังนั้น แม้จะมีผู้เล่นจำนวนมากก็จริง แต่ก็เป็นตลาดที่เปิดตลอด”

    สำหรับใครที่ต้องการจะสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เจ้าของร้าน Shinjuku Outlet แนะนำว่า กุญแจสำคัญคือคำว่า “Blue Ocean” นั่นคือ ต้องคำนึงว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งใหม่ และต้องเป็นความแตกต่างที่ผู้บริโภคต้องการจริงๆ จากนั้นค่อยสร้างกลยุทธ์ โดยใช้ราคา ความต้องการ และความใหม่ของธุรกิจเป็นแรงผลักดัน

    “เราเองยังเป็นส่วนเล็กๆในตลาดเสื้อผ้า ถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีร้านแบบนี้กว่าพันสาขา ในเมืองไทยยังถือว่ามีน้อย ซึ่งหากเทียบกับประชากรเมืองไทยยังสามารถมีร้านพวกนี้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 500 สาขา จึงเป็นช่องว่างให้ธุรกิจของเรามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ตอนนี้การทำตลาดในประเทศเรามีแผนรองรับไว้หมดแล้ว คือขยายสาขาให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค หลังจากนี้ก็คงเป็นการมองตลาดต่างประเทศ ต้องมีสาขาต้นแบบในแต่ละประเทศ เพื่อเก็บข้อมูล ความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมของแต่ละประเทศ และหา Valueที่ตอบโจทย์คนแต่ละประเทศจริงๆ”

    อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคงประจักษ์กับตัวเองแล้วว่า ความต่างสร้างการเติบโตได้อย่างไร!!!

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ Shinjuku Outlet กันได้ที่ www.facebook.com/shinjukuoutlet

    Create by smethailandclub.com

    เรื่อง          ธีรนาฎ มีนุ่น
    ภาพ          กฤษฎา ศิลปไชย

   

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook