วิธีออมเงินที่มนุษย์เงินเดือนยังต้องอึ้ง!!
ประสบการณ์ออมเงินของคนธรรมดา ที่มีวิธีคิดไม่ธรรมดา ทำให้มนุษย์เงินเดือนยังต้องอึ้ง
วันนี้ขอเล่าประสบการณ์เรื่องการออมเงินของ “น้ารุ่ง” ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ของพ่อเราที่ทำงานโต๊ะจีนด้วยกันมาสิบกว่าปี ก่อนหน้านี้น้ารุ่งทำงานเป็นคนงานก่อสร้างเลี้ยงลูกเพียงคนเดียวเพราะสามีเสียชีวิตไปนานแล้ว งานก่อสร้างเป็นงานที่หนักทำให้ไม่ค่อยได้พักผ่อน จึงเปลี่ยนมาทำอาชีพเผาถ่านขายเพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอจึงต้องออกรับจ้างเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็มาลงเอยที่อาชีพคนเสริฟอาหารโต๊ะจีนให้กับที่บ้านเรา แต่ตอนนี้เปลี่ยนจากคนเสริฟอาหารมาเป็นคนดูแลเด็กเสริฟเพราะเดินไม่ค่อยไหว
พ่อเคยสอนวิธีการทำงานว่าให้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกน้อง เราควรทำงานให้ลูกน้องเกรงใจ ไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งแล้วนั่งอยู่เฉยๆ ทำให้ครอบครัวเรากับคนงานโต๊ะจีนค่อนข้างที่จะผูกพันกันเหมือนญาติ มากกว่าเจ้านายกับลูกน้อง โดยเฉพาะน้ารุ่งที่ทำงานด้วยกันมานานก็จะรู้ใจกันดี นอกจากความขยันของน้ารุ่งที่ไม่ธรรมดาแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราได้ฟังแล้วยังทึ่งกับแนวความคิดที่กำลังจะเขียนต่อจากนี้
ขอบคุณน้ารุ่งมากๆที่ทำให้เรารู้ว่า “ระดับการศึกษา จำนวนเงิน ทักษะการออมเงิน” นั้นไม่เกี่ยวข้องกัน เราลองมาดูแนวคิดของน้ารุ่งที่เรียนมาน้อยมาก ปัจจุบันทำอาชีพหาเช้ากินค่ำได้รับเงินเป็นรายวัน แต่มีทักษะการออมเงินที่หลายๆคนคาดไม่ถึงเลยหละ
งานรับจ้างจัดโต๊ะจีนนั้นมีขึ้นมีลง มีคนจ้างก็มีงานทำ ในฤดูเข้าพรรษา 3 เดือนจะเป็นช่วงที่งานน้อยมาก คนหาเช้ากินค่ำที่รับจ้างทำงานโต๊ะจีนค่อนข้างลำลาก น้ารุ่งจะมีวิธีจัดการรายได้อย่างไรให้อยู่รอดได้ในช่วงที่ไม่มีงานรับจ้าง
วิธีจัดการรายได้
น้ารุ่งเขียนรายการออกมาว่าเดือนนี้มีรายจ่ายที่ต้องจ่ายเท่าไหร่ (รายจ่ายห้ามเบี้ยว) คือ เงินประกันชีวิต ค่าน้ำ ค่าไฟ แล้วก็ทำงานหาเงินให้ครอบคลุมกับรายจ่ายก่อน ส่วนที่เหลือก็จะเก็บออมเป็นเงินสดไว้ในบ้านเผื่อไว้ใช้ตอนจำเป็น ไม่ได้ไปฝากธนาคารเพราะคิดว่ามันเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก ไม่คุ้มค่าเดินทางที่ต้องขี่รถไปฝากเงิน
เราทึ่งกับแนวความคิดที่ว่า…ซื้อประกันชีวิต
เราถามว่า “ทำไมถึงซื้อประกันชีวิต” น้ารุ่งมองว่าเป็นการบังคับออมเงินที่ดี ถอนมาใช้ไม่ได้เพราะถ้าฝากออมทรัพย์ไว้ก็จะเผลอถอนออกมาใช้ เงินมันออกมาง่ายเกินไป ตอนนี้ก็มีกัน 2 คนแม่ลูก ส่งเบี้ยประกันชีวิตทุกเดือนคนละ 500 บาท รวม 1,000 บาทต่อเดือน ประเด็นสำคัญที่สุดน้ารุ่งคิดว่าไม่ตายก็ได้รับเงินคืน แต่ถ้าโชคร้ายใครคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนหนึ่งก็จะได้รับเงินประกันชีวิตไปใช้ น้ารุ่งคิดว่าตนเองทำอาชีพหาเช้ากินค่ำจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำประกันไว้คนในครอบครัวจะได้ไม่ลำบาก
พอเราฟังจบก็ถามกลับไปด้วยความอยากรู้ว่า “ความคิดแบบนี้มาจากไหน” น้ารุ่งตอบสั้นๆว่า “คิดได้เอง” แล้วพูดอีกนิดว่า “ก็คนขายประกันบอกแบบนั้น ก็ฟังแล้วลองกลับไปนั่งคิดดู ทำให้คิดได้ว่าเป็นทางหนึ่งที่ทำให้มีเงินออมได้ก็เลยทำประกันชีวิต ทำมาถึงตอนนี้ก็ 9 ปีละ” เราฟังแล้วยังทึ่ง สุดยอดมากๆอ่ะ
ทำให้คิดถึงพี่คนหนึ่งที่เคยเล่าให้เราฟังว่าเขาปิดกรมธรรม์ตัวเอง ยอมเวนคืนกรมธรรม์ที่ได้รับเงินคืนน้อยกว่าที่ส่งไป แล้วเอาเงินนั้นไปทำอย่างอื่นที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า ของสิ่งเดียวกันแต่มีมุมมองแตกต่างกัน คนแรกที่มีทางเลือกในชีวิตไม่มากจึงเลือกที่จะใช้ประกันชีวิตคุ้มครองชีวิตตนเอง แต่อีกคนหนึ่งที่มีหลายทางเลือก กลับเห็นว่าการลงทุนที่คุ้มค่านั้นสำคัญกว่าการปกป้องคุ้มครองชีวิตตนเอง
วิธีสอนลูกใช้เงิน
เพื่อนข้างบ้านซื้อมอไซด์คันใหม่ ทำให้ลูกชายวัย 18 ปีของน้ารุ่งอยากได้บ้าง มีทางเลือก 2 ทาง คือ จ่ายเงินผ่อนกับจ่ายสด ถ้าจ่ายเงินผ่อนจะมีราคาคันละ 70,000 บาท แต่ถ้าจ่ายสดก็เหลือคันละ 50,000 บาท ก็ยังแพงอยู่ดี ปัจจุบันที่บ้านก็มีมอไซด์ขับไปทำงานอยู่แล้ว 1 คันก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ เมื่อเห็นเขามีก็อยากมีเหมือนเขาบ้าง
วิธีรับมือกับลูกวัยรุ่นแบบนี้ของน้ารุ่งก็ไม่ธรรมดา ถ้าผู้ปกครองท่านไหนเจอแบบนี้ก็อาจจะลองนำไปปรับใช้ได้นะจ๊ะ ปกติลูกชายไปรับจ้างทำงานได้เงินมาก็แบ่งใช้ 2 ส่วน คือ เก็บไว้ใช้เองและแบ่งให้น้ารุ่งเก็บไว้ ผ่านไป 3 เดือนน้ารุ่งก็นำเงินเก็บส่วนนั้นไปซื้อสร้อยทอง 2 สลึง(ราคา 10,200 บาท) ให้ลูกชายแล้วอธิบายว่า “มอไซด์กับสร้อยทอง” อะไรดีกว่ากัน
ถ้าซื้อมอไซด์ก็จะมีต้นทุนสูงจากการผ่อนเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย รวมถึงเสียค่าซ่อมรถ ค่าแต่งรถ ค่าน้ำมัน
สร้อยทอง – เก็บไว้ใส่ได้และถ้าต้องการใช้เงินก็นำไปจำนำได้
สุดท้ายลูกชายเปลี่ยนใจเลิกคิดถึงมอไซด์แล้วหันมาใส่ทอง
แนวทางการสอนจะใช้วิธีการพูดเปรียบเทียบเหตุผลได้ผลเสียให้ฟังเพื่อ “ฝึกให้ลูกคิดเองเป็น” ซึ่งทักษะการออมเงินและการใช้เงินนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะหยิบออกมาใช้รึเปล่า จากตัวอย่างประสบการณ์นี้ แม้ว่าน้ารุ่งการศึกษาไม่สูง รายได้ไม่มากแต่ก็รู้จักใช้เงิน จัดสรรรายจ่ายและขยันทำงานหากินเพื่อหารายได้เพิ่ม
ทักษะการออมเงินใครๆก็ฝึกได้นะจ๊ะ สู้ๆ ^_^