หุ้นที่ได้ประโยชน์ จากน้ำมันขาลง
คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
จากที่ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งลงกว่า 60% นับตั้งแต่มิถุนายน 2557 ซึ่งอยู่ที่กว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และล่าสุดน้ำมันดิบสหรัฐที่ตลาดเวสต์เทกซัส ลงมาแตะที่ 46 เหรียญต่อบาร์เรล
แม้ราคาน้ำมันในประเทศจะไม่ได้ลดลงมากขนาดนั้น แต่ก็เป็นการลดลงที่มีนัยต่อต้นทุนธุรกิจและการดำรงชีพ
ล่าสุด ณ วันที่ 16 ม.ค. 58 ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 27.30 บาท/ลิตร จากสูงสุดเมื่อ 1 มิ.ย. 57 อยู่ที่ 41.53 บาท/ลิตร เท่ากับว่าลดลงกว่า 34%
ขณะที่น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25.49 บาท/ลิตร จาก 1 มิ.ย. 57 ราคา 29.99 บาท/ลิตร ลดลงไปราว 15%
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ทำรายงานบทวิเคราะห์เกี่ยวกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบและบวก จากราคาน้ำมันขาลง แน่นอนว่าธุรกิจที่ได้รับผลเชิงลบชัดเจนคือ หุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมี ที่จะทำให้มีกำไรลดลง โดยคาดว่าไตรมาส 4/57 หุ้นกลุ่มนี้กำไรจะหดหายไปอย่างน้อย 3-4 หมื่นล้านบาท
ส่วนหุ้นหรือธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันลง อันดับแรกคือ "สายการบิน" โดยเฉพาะสายการบินที่ทำป้องกันความเสี่ยงน้ำมันสัดส่วนที่น้อย มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์มากที่สุด
และคาดหมายว่าจะส่งผลให้สายการบินมีการปรับลดราคาตั๋วเครื่องบินกันในเร็ว ๆ นี้
"กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง" เป็นอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ไม่น้อย เพราะต้องใช้รถขนส่งจำนวนมากเพื่อกระจายสินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ ทั้งยังได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าภายในห้างที่ลดลงตามค่า Ft โดยต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราว 2-4% ของยอดขาย ซึ่งหากมีการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงราว 12% ก็จะช่วยให้กำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นราว 2-3% ทันทีแบบไม่ต้องออกแรงอะไร
ตามมาด้วยกลุ่ม "วัสดุก่อสร้าง" ที่มีต้นทุนพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการผลิต อาทิ กลุ่มผู้ผลิตกระเบื้อง ที่ต้นทุนเชื้อเพลิงคือก๊าซธรรมชาติสูงถึง 30% ของต้นทุนรวม หรือ "ปูนซีเมนต์" ต้นทุนพลังงาน 60% ของต้นทุนผลิตรวม (ถ่านหิน 30% และค่าไฟฟ้า 30%)
สำหรับกลุ่ม "ยานยนต์" มีต้นทุนจากค่าไฟฟ้าราว 3-5% ของยอดขาย พร้อมด้วยค่าขนส่ง 0.5% ของยอดขาย ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดีเซลลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% ช่วยให้กลุ่มยานยนต์มีกำไรเพิ่มขึ้น 2.5-3.5%
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ กลุ่ม "พัฒนาที่อยู่อาศัย" ที่ได้อานิสงส์ผ่านทางค่าวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มราคาลดลง จากปกติผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาบ้าน 3-5% ต่อปี แต่ในภาวะต้นทุนลดลง คาดว่าผู้ประกอบการจะยืนราคาขายเดิม จึงทำให้กลุ่มพัฒนาอสังหาฯปี 2558 มีโอกาสทำกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม 1%
โดยยักษ์อสังหาริมทรัพย์ ต่างออกมายืนยันว่า ราคาน้ำมันเป็นต้นทุนแฝงในค่าก่อสร้างเพียง 3-4% เท่านั้น ทั้งระบุว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าวัสดุ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปรับลดราคา
และสุดท้ายกลุ่ม "ท่องเที่ยว-โรงแรม" มีต้นทุนค่าไฟฟ้า 3-6% ของรายได้ และต้นทุนโลจิสติกส์ไม่ถึง 1% แต่ต้นทุนที่ลดลงคาดว่าจะส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มโรงแรมเพิ่มขึ้นราว 2%
เรียกว่ามีธุรกิจมากมายที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดฮวบครั้งนี้ แต่โอกาสที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงนี้ยังมีเพียงน้อยนิด แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะออกมายืนยันว่าผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ พร้อมให้ความร่วมมือในการลดราคาสินค้าก็ตาม
เพราะสัญญาณจากนักธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า นี่เป็นโอกาสที่จะสามารถพยุงตัวเลขกำไรของบริษัทในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นไข้
สถานการณ์ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ที่ผู้ประกอบการก็จะออกมาส่งเสียงทันที เพื่อขอปรับขึ้นราคาสินค้าเพราะต้นทุนน้ำมันพุ่ง !
นี่คือสัจธรรมของโลกธุรกิจ