′แอร์ไลน์′ลอยแพ ไฉนถึงเกิดซ้ำซาก ?!

′แอร์ไลน์′ลอยแพ ไฉนถึงเกิดซ้ำซาก ?!

′แอร์ไลน์′ลอยแพ ไฉนถึงเกิดซ้ำซาก ?!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


ข่าวสายการบินบิสซิเนส แอร์ เที่ยวบินที่ 8B 868 อินชอน-สุวรรณภูมิ ไม่สามารถทำการบินได้ ลอยแพผู้โดยสารร่วมพันคน ทำให้หลายคนสงสัยว่าเหตุการณ์ซ้ำซากนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

กรมการบินพลเรือน มีคำสั่งให้บิสซิเนสแอร์ ยุติการให้บริการบินเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากประสบปัญหาฐานะทางการเงินอย่างหนัก

เป็นหนี้ค้างบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และทางฮ่องกง หนี้ค้างค่าเช่าเครื่องบินรวมกว่า 1 พันล้านบาท

กรมการบินฯผ่อนผันให้โอกาสแก้ไขปัญหาสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 3 เดือนเต็ม ตั้งแต่พฤศจิกายน 2557 และยื่นคำขาดให้แก้ปัญหาทุกอย่างให้จบภายใน 15 มกราคม 2558

เมื่อไม่สามารถดำเนินการได้ จึงสั่งหยุดบินทันที

ส่งผลให้ผู้โดยสารชาวไทยทั้งที่กำลังจะเดินทางจากเมืองไทยไปเที่ยวเกาหลี และกลุ่มคนไทยที่ท่องเที่ยวแล้วเสร็จจะกลับจากเมืองไทยตามกำหนด จำนวนร่วมพันคน ไม่สามารถเดินทางได้

ตกค้างทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอินชอน

นักท่องเที่ยวทั้งหมดซื้อแพคเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ต่างๆ 30 ราย ส่งผลต่อธุรกิจทัวร์ทั้ง 30 ราย ต้องเสียชื่อเสียงและเงินที่จ่ายล่วงหน้าให้กับสายการบินดังกล่าวในเที่ยวบินอื่นๆ เรื่อยยาวไปถึงเดือนกรกฎาคม 2558 รวมมูลค่าความเสียทั้งหมดครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่นักท่องเที่ยวถูกลอยแพค้างสนามบิน หลังซื้อแพคเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยวต่างๆ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักมาจากผู้โดยสารซื้อแพคเกจท่องเที่ยวราคาถูก

บริษัททัวร์เองก็ต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำที่สุด จึงร่วมกับหลายๆ บริษัทในแวดวง เหมาลำสายการบิน เพื่อบริการผู้โดยสาร

การที่บริษัททัวร์พึ่งสายการบินที่มีเครื่องบินเพียงลำเดียว ย่อมมีความเสี่ยงสูงมากกว่าปกติ

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกัน เมื่อสายการบินซิตี้ แอร์ ลอยแพผู้โดยสารจีนเกือบ 300 คน ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต

หลังมีปัญหาไม่สามารถนำเครื่องบินมารับผู้โดยสารได้วันที่ 9 สิงหาคม 2557

ก่อนหน้านั้น ซิตี้แอร์ได้ทิ้งผู้โดยสารที่จะเดินทางจากสนามบินดอนเมืองมาภูเก็ต จำนวน 160 คน ไว้ที่สนามบินดอนเมืองครั้งหนึ่งแล้ว

กรมการบินพลเรือนได้แจ้งสาเหตุระงับการบินว่า มีปัญหาการซ่อมบำรุง อาจเกิดความไม่ปลอดภัยได้

เดือนตุลาคม 2555 เกิดปัญหาสายการบินพีซีแอร์ ถูกอายัดเครื่องที่สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เพราะค้างชำระค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินและค่าน้ำมัน ทำให้ไม่สามารถบินกลับประเทศไทยได้

ส่งผลให้ผู้โดยสารตกค้างครั้งนั้นราว 400 คน

21 บริษัททัวร์ที่ใช้บริการแห่แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ดำเนินคดีสายการบินพีซีแอร์

เพราะบริษัททัวร์ได้จ่ายเงินค่าเดินทาง ค่าที่พัก โรงแรม และทิปต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายรวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

หรือก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์ของสายการบินถูกระงับการบิน แล้วลอยแพผู้โดยสาร ทั้งภูเก็ตแอร์ เอเชี่ยนแอร์ อาร์แอร์ไลน์ ยูแอร์ไลน์

เหตุเพราะประชาชนให้ความสนใจกับราคาเป็นลำดับแรกในการตัดสินใจซื้อทัวร์

บริษัททัวร์ต่างๆ จึงปรับกลยุทธ์ เคาะราคาให้ถูกมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือ ร่วมมือกับสายการบินแบบเหมาลำ เพื่อให้บริการลูกทัวร์ ขณะที่สายการบินเหล่านี้ก็อาศัยบริษัททัวร์ทำตลาดให้

สำหรับกรณีสายการบินบิสซิเนสแอร์ ที่เกิดล่าสุด นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เผยว่า สายการบินบิสซิเนสแอร์ได้ขอใบอนุญาตทำการบินกับกรมการบินพลเรือนเมื่อปี 2553 ในลักษณะของเที่ยวบินประจำ

ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนด

และนำเสนอแผนและผลการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจให้กับกรมการบินพลเรือนพิจารณาด้วย

กรมการบินพลเรือนได้พิจารณาคุณสมบัติต่างๆ ตามระเบียบที่กำหนด คือ หากเป็นการขอทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) จะต้องมีเครื่องบินไม่ต่ำกว่า 2 ลำ เพื่อให้สามารถบินไปกลับได้

แต่หากขอเป็นเที่ยวบินประจำก็ต้องมีเครื่องบินมากกว่า 2 ลำขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอกับการให้บริการ

แล้วอนุญาตให้ทำการบินได้จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 รวมระยะเวลา 5 ปี

ด้วยเครื่องบินเช่า 5 ลำ ให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-โซล ประเทศเกาหลีใต้ กรุงเทพฯ-จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และกรุงเทพฯ-เจดดาร์

นอกจากได้ใบอนุญาตให้ทำการบินแล้ว ทุกสายการบินจะต้องได้รับอนุญาตแผนการบินหรือ Schedule เที่ยวบินที่จะทำการบินด้วย

ปกติกรมการบินพลเรือนจะอนุญาตให้เป็นช่วงฤดูกาล เช่น ให้บินได้ตลอดช่วงฤดูหนาว หรือฤดูร้อน เป็นต้น

เมื่อมีใบอนุญาตทำการบินแล้ว ก็ต้องได้รับอนุญาตตารางเที่ยวบินด้วย จึงจะสามารถให้บริการได้

ตอนแรกบิสซิเนสแอร์ดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี แต่ตอนหลังเริ่มมีปัญหา จนเหลือเครื่องบินให้บริการเพียง 3 ลำ

สายการบินแจ้งว่าอีก 2 ลำ ต้องนำไปซ่อมบำรุง จนกระทั่งภายหลังเครื่องบินที่ให้บริการเหลือเพียง 1 ลำ ขณะเดียวกันยังได้ปรับลดเส้นทางบินเหลือเพียงเส้นทางกรุงเทพฯ-โซล เส้นทางเดียวเท่านั้น

ในการต่ออายุใบอนุญาตทำการบินครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 กรมการบินพลเรือนจึงปรับลดระยะเวลาลงเหลือ 2 ปี คือ อนุญาตให้ทำการบินได้ไปจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 จากปกติจะอนุญาตให้ 5 ปี

ขณะเดียวกันก็อนุญาตตารางเที่ยวบินให้ 3 เดือน เพื่อประเมินการให้บริการเป็นระยะๆ

จนกระทั่งครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ทางสายการบินก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ขอผ่อนผัน ทางกรมการบินพลเรือนจึงขยายเวลาให้อีกจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2558

เพื่อให้ทางสายการบินนำหลักฐานการยืนยันจากธนาคารมาว่าจะได้รับการกู้ยืมจากธนาคารไหนเพื่อมาชำระหนี้

แต่พอวันที่ 13 มกราคม 2558 สายการบินมาขอผ่อนผันกับกรมการบินพลรือนอีก เพื่อป้องกันปัญหารุนแรงมากขึ้นไปอีก กรมการบินพลเรือนจึงไม่ต่อตารางการบินให้ในวันที่ 16 มกราคม 2558

จึงส่งผลให้บิสซิเนสแอร์ไม่สามารถขึ้นบินได้

ภายหลังยังทราบด้วยว่าบิสซิเนสแอร์ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าเครื่องบิน 3 ลำสุดท้ายที่นำมาให้บริการ รวมถึง 1 ลำ ที่เหลือให้กับเจ้าของเครื่องบินด้วย

และยังไม่ยอมนำเครื่องบิน 1 ลำที่เหลือ ไปรับการซ่อมบำรุงตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะเกรงว่าเจ้าของเครื่องบินจะยึดเครื่องบินลำเดียวที่เหลืออยู่ไป

นั่นคือความเป็นมาอันซับซ้อนของธุรกิจทัวร์และการบินที่แข่งกันตัดราคา จนตัวเองก็ย่ำแย่อยู่ไม่ได้

เป็นอุทาหรณ์เตือนประชาชน นักเดินทาง ให้ต้องระวังมากขึ้น ในการเลือกใช้บริการทัวร์และสายการบิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook