อนาคตเศรษฐกิจ กับค่าแรง 300 บาท
ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ ขึ้นค่าจ้าง 300 บ.ปรับโฉมไทยไปสู่โครงสร้าง ศก.ใหม่ ค่าแรงมีเสถียรภาพในอีก 3 ปี การเมือง การจัดการน้ำปัจจัยเสี่ยงจ้างงาน มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน 1 เมษายนนี้ ว่า จะมีผลให้ค่าจ้างแรงงาน ระหว่างปี 2555-2558 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี
โดยใน 7 จังหวัด คือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ตอัตราการปรับขึ้น จะกระโดดขึ้นมาสูงที่สุดในปีแรก และมีเสถียรภาพใน 3 ปีถัดไป และอาจมีผลต่อเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 0.6-0.7
เมื่อรวมการปรับขึ้นของราคาพลังงาน และปัจจัยอื่นๆ จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ทรงตัว ในระดับสูงที่ร้อยละ 3.9 และ คาดว่าการว่างงานในระยะสั้นน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ย ร้อยละ 0.8 ในปีนี้
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรฯระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยด้านค่าจ้างที่สูงขึ้น ผนวกกับเป้าหมายการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
ผลอุทกภัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองและวิถีทางการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่งเสมือนเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที
แต่ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในด้านการสนับสนุน การพัฒนาประสิทธิภาพ และคุณภาพด้านทรัพยามนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น หากธุรกิจผ่านพ้นจุดนี้ไปได้ ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
อย่างไรก็ตามค่าจ้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อ การจ้างงาน คือเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ขอบคุณข้อมูล INNNews