ดีลขายหุ้น"บางจาก"ส่อแววล่ม ปตท.ชงกองทุนวายุภักษ์เสียบ

ดีลขายหุ้น"บางจาก"ส่อแววล่ม ปตท.ชงกองทุนวายุภักษ์เสียบ

ดีลขายหุ้น"บางจาก"ส่อแววล่ม ปตท.ชงกองทุนวายุภักษ์เสียบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีลขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางจากส่อแววล่ม หลังกลุ่ม "ประยุทธ มหากิจศิริ" เปิดศึกชิงหุ้น 27.22% กับกลุ่ม "พิชัย ชุณหวชิร" แต่พนักงานบางจากไม่เอาด้วย กลัวเป็นตัวแทนกลุ่มทุนการเมืองเข้ามาฮุบโรงกลั่น ล่าสุดทำหนังสือฟ้องนายกฯประยุทธ์ ขณะที่ ปตท.แอบคุยคลัง ดึง "กองทุนวายุภักษ์" ซื้อหุ้นแทน

หลังจากที่หมดเวลา (9 มกราคม 2558) ยื่นรับซองเสนอซื้อหุ้นจำนวน 27.22% ในส่วนที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถืออยู่ในบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปรากฏมีผู้สนใจเข้ามายื่นซองเพียง 2 ราย ได้แก่ บริษัทเมอร์ริเมดไทม์ ของกลุ่มนายประยุทธ มหากิจศิริ กับบริษัทบีซีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (BCP) นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะกรรมการบริษัทบางจาก โดยข้อเสนอของผู้สนใจทั้ง 2 รายกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการซื้อขายหุ้นบริษัทบางจาก ซึ่งมีนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท.เป็นประธาน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ขณะนี้ได้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างฝ่ายผู้ต้องการขายหุ้นคือบริษัท ปตท.กับพนักงานบริษัทบางจาก เนื่องจากฝ่ายหลังเห็นว่าการขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางจากในครั้งนี้จะส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันบางจากเปลี่ยนมือจากองค์กรของรัฐ (บริษัท ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 27.22% รองลงมาได้แก่กระทรวงการคลัง 9.98%) กลายเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่บริหารโดยกลุ่มทุนที่มี "นักการเมือง" หนุนหลัง

ล่าสุด พนักงานบริษัทบางจากได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา แสดงความไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้นในครั้งนี้และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ "หยุดยั้ง" การดำเนินการที่จะขายหุ้นบริษัทบางจาก โดยให้เหตุผลบริษัทบางจากถูกก่อตั้งขึ้นในสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อปฏิบัติภารกิจ 2 ประการคือ 1) ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ กับ 2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทย

ทั้งนี้ ผู้สนใจยื่นซองเสนอซื้อหุ้นทั้ง 2 ราย คือบริษัทเมอร์ริเมด ไทม์ ของกลุ่มนายประยุทธ มหากิจศิริ เติบโตมาในช่วงสมัยของรัฐบาลเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่บริษัทบีซีพี คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพิ่งตั้งบริษัทขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน 2557 หรือเพียงไม่ถึงเดือนหลังจากที่คณะกรรมการบริษัท ปตท.มีมติให้ลดการถือหุ้นของ ปตท.ในกิจการโรงกลั่นน้ำมัน ด้วยการขายหุ้นทั้งหมด (Divest) ในโรงกลั่นน้ำมันบางจากกับโรงกลั่นน้ำมัน SPRC ออกไป

มีข้อน่าสังเกตว่า บริษัท BCP มีกรรมการเพียง 2 คนคือนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะกรรมการบริษัทบางจาก กับนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันของบริษัทบางจาก แจ้งวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทเพื่อดำเนินกิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก

"ดูเหมือนว่าการกำเนิดขึ้นมาของบริษัท BCP จะเป็นบริษัทเฉพาะกิจที่กลุ่มของนายพิชัยและกรรมการในบอร์ดบางจากบางส่วนต้องการให้เข้ามาซื้อหุ้นแข่งกับกลุ่มของนายประยุทธ แต่บริษัทนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพนักงานบางจากที่มีความเห็นขัดแย้งกับบอร์ด อาทิ ข้อเสนอของบอร์ดที่ให้ระดมทุนจากพนักงานมาซื้อหุ้น หรือการกู้เงินธนาคารกรุงไทย จนข้อเสนอนี้ตกไป เนื่องจากพนักงานบางจากไม่มั่นใจว่า แท้จริงแล้วผู้สนับสนุนทางการเงินของบริษัท BCP เป็นใครกันแน่" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้กระแสต่อต้านการขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางจากในส่วนที่บริษัท ปตท.ถืออยู่ได้แพร่เข้าไปในโลกโซเชียลด้วย อาทิ "ปตท.ต้องไม่ขายบางจากฯ หยุดขายสมบัติชาติของหลวง เอกชน-ทุนการเมืองจ้องฮุบ" เป็นต้น

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการบริษัท ปตท. จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอในการซื้อหุ้นบางจากจากทั้ง 2 กลุ่ม หรือล้มการขายหุ้นบางจากในครั้งนี้จากเหตุผล 1) การถูกกดดันจากภาคประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วย 2) พนักงานบางจากที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ไม่เห็นด้วย และ 3) การกดดันจากฝ่ายทหาร ซึ่งตกใจกับข้อเสนอของกลุ่มทุนการเมืองที่จะเข้ามาครอบครองโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้

"ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ถูกดำเนินการไปในทางลับขณะนี้ก็คือ เกิดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระหว่าง ปตท.กับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 2 (9.98%) เพื่อให้ "กองทุนวายุภักษ์" เข้ามาซื้อหุ้นบางจากในสัดส่วน 27.22% ที่ ปตท.ถืออยู่แทน โดยข้อเสนอนี้ ปตท.มองว่า การให้ภาครัฐถือหุ้นใหญ่ในบางจากจะลดการต่อต้านจากภาคประชาสังคมและพนักงานบางจากได้ และที่สำคัญการเข้ามาของกองทุนวายุภักษ์ยังทำให้บริษัทบางจากสามารถเป็นกลไกสำคัญของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและส่งเสริมพลังงานทดแทนได้ต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า "ใคร" จะเข้ามาถือหุ้นบริษัทบางจากแทน ปตท. แต่ยอมรับว่า แนวทางที่จะให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการหารือเรื่องนี้กันในคณะกรรมการบริหารกองทุนวายุภักษ์ก่อน

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวถึงการขายหุ้นบางจากว่า ผู้ยื่นเสนอซื้อหุ้นของบางจากในราคาสูงสุดได้แก่กลุ่มของนายประยุทธ มหากิจศิริ แต่ดูเหมือนทางการจะไม่ต้องการให้กลุ่มนี้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้จึงมีแนวคิดจะให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาซื้อไว้แทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook