เทสโก้-บิ๊กซีเปลี่ยนเกมลุยค้าปลีก เติมแบรนด์ดัง-เพิ่มพท.ช็อปปิ้งเขย่าศูนย์การค้า

เทสโก้-บิ๊กซีเปลี่ยนเกมลุยค้าปลีก เติมแบรนด์ดัง-เพิ่มพท.ช็อปปิ้งเขย่าศูนย์การค้า

เทสโก้-บิ๊กซีเปลี่ยนเกมลุยค้าปลีก เติมแบรนด์ดัง-เพิ่มพท.ช็อปปิ้งเขย่าศูนย์การค้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สองยักษ์ค้าปลีก "เทสโก้ โลตัส-บิ๊กซี" พลิกเกม ช่วงชิงกำลังซื้อ เดินหน้ายกเครื่องสาขา ลดพื้นที่ "น็อนฟู้ด" เติมแบรนด์ดัง-โรงหนัง เขย่าศูนย์การค้า แจงชัดปรับเพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน จับตาแนวรบใหม่ ควงยักษ์เมเจอร์ฯ ปูพรมขยายสาขาสู่ระดับ "อำเภอ" ด้านโรบินสันไม่หวั่น ชี้คนละกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากการแข่งขันกันเป็นผู้นำด้าน "ราคา" ส่งโปรโมชั่นเกทับชนิดไม่มีใครยอมใคร ความเคลื่อนไหวอีกมิติหนึ่งของเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซีในขณะนี้คือ การปรับรูปแบบธุรกิจมุ่งสู่ "ช็อปปิ้งมอลล์" พลิกบทบาทไปสู่การเป็น "ดีเวลอปเปอร์" พัฒนาพื้นที่ให้ร้านค้าเช่า และยกระดับสาขาเทียบเท่าศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ด้วยการดึงสินค้าและบริการแบรนด์ชั้นนำไปเปิด เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์และดีมานด์ใหม่ ๆ ในทางกลับกันทั้งคู่ได้ลดพื้นที่สินค้ากลุ่ม "น็อนฟู้ด" ซึ่งเดิมเคยเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ การแปลงโฉมครั้งใหม่ของ "เทสโก้-บิ๊กซี" เกิดควบคู่ไปกับการทดลองโมเดลใหม่ ๆ สู่ระดับอำเภอที่มีศักยภาพ โดยมีโรงหนังทันสมัยร่วมเป็นแม่เหล็กสำคัญ แน่นอนว่าทิศทางการปรับตัวในลักษณะดังกล่าวของยักษ์ไฮเปอร์มาร์เก็ตย่อมส่ง ผลกระเทือนต่อกลุ่มเซ็นทรัล ที่มี "โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์" ปักธงยึดตลาดทั่วประเทศอยู่ก่อนแล้ว

เติมแม็กเนตนำร่อง ตจว.

แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงค้าปลีก ฉายภาพความเคลื่อนไหวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การแข่งขันของค้าปลีกดุเดือดต่อเนื่องทุกเซ็กเมนต์ ทั้งศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนี่ยนสโตร์ ฯลฯ ไม่เพียงการช่วงชิงทำเลพื้นที่ขยายสาขา แต่ยังรวมถึงการดึงลูกค้าให้เข้ามาจับจ่ายได้มากที่สุด ล่าสุด "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" ทั้ง 2 ค่ายยักษ์ได้ปรับรูปแบบแต่ละสาขาใหม่ ด้วยการเพิ่มพื้นที่เช่าร้านค้าต่าง ๆ และลดพื้นที่ในส่วนสโตร์สินค้ากลุ่ม "น็อนฟู้ด"

"ทั้งเทสโก้และบิ๊กซีเริ่มขยายพื้นที่เช่ามากขึ้นด้วยการทยอยรีโนเวตสาขา ลดสัดส่วนสินค้ากลุ่ม "น็อนฟู้ด" และเพิ่มพื้นที่เช่าให้กับร้านแบรนด์สินค้าใหม่ ๆ แม็กเนตจุดขายใหม่ ๆ รวมถึงโรงหนัง ร้านอาหาร แฟชั่นเสื้อผ้า"

ผู้บริหารรายนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่า เทสโก้ โลตัส จะมีความเคลื่อนไหวปรับพื้นที่อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันยักษ์ใหญ่รายนี้อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลมอลล์ขนาดเล็กที่จะเข้าไป เจาะตามชุมชน อำเภอ โดยมีโรงหนังร่วมด้วย ซึ่งเป็นโอกาสและขยายตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการดำเนินงานของบิ๊กซีที่ผ่านมาระบุชัดเจนว่า การเติบโตรายได้มาจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ โดยได้เพิ่มพื้นที่ให้เช่าในสาขาที่เปิดใหม่ควบคู่กับปรับขยายพื้นที่เช่า สาขาเดิมให้เพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มแบรนด์ร้านอาหาร แฟชั่น และสินค้าประเภทใหม่ ๆ เช่น ไอ-สตูดิโอ ฯลฯ

ตลาดเปลี่ยน-ลูกค้าเปลี่ยน

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัทเทสโก้ โลตัส บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มีนโยบายบริหารพื้นที่เช่าและขยายพื้นที่ให้กับร้านค้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบช็อปปิ้งมอลล์ ที่ได้พัฒนา "พลัสมอลล์" ไปแล้วรวม 3 สาขา ได้แก่ บางใหญ่, ศรีนครินทร์ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ส่วนเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ได้ดึงผู้เช่าร้านกาแฟอเมซอนเข้ามาเสริมกลุ่มธุรกิจสะดวกซื้อ

แนวทางดังกล่าวไม่ใช่แค่ยกระดับภาพลักษณ์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านใหม่ ๆ รองรับความต้องการของลูกค้าและเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ต้องการสินค้าทันสมัย ทำให้จุดขายเรื่องราคาถูกอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องตอบโจทย์ที่มากกว่าในแง่ของประสบการณ์ช็อปปิ้ง ซึ่งลูกค้าใช้เวลาซื้อของในช่วงวันหยุด พร้อมกับทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว อาทิ รับประทานอาหาร บริการ และกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ

"เราพยายามจัดพื้นที่ขายเยอะขึ้นและลดพื้นที่เก็บสต๊อกหลังร้านให้น้อยลง โดยที่การเลือกร้านค้าขึ้นอยู่กับทำเลและความต้องการของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งดูลูกค้าและคู่แข่งเป็นหลัก ในส่วนของพื้นที่ไฮเปอร์ยังเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค แต่พื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์จะพยายามนำแบรนด์ที่ตรงใจลูกค้าเข้ามามากขึ้น"

สอดคล้องกับนายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหารฝ่ายอสังหาริมทรัพย์เทสโก้ โลตัส ขยายความก่อนหน้านี้ว่า ทิศทางของไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีขนาดเล็กลง เพราะฉะนั้นค้าปลีกต้องปรับตัวรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป กลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงขึ้น ตลาดมีการแข่งขันสูง จึงต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดเป็นทางเลือกทิศทางดังกล่าวนำมาสู่การปรับกลยุทธ์ นำพื้นที่มาพัฒนาเป็นช็อปปิ้งมอลล์ รวมถึงบาลานซ์ความเหมาะสมระหว่างร้านอาหาร แฟชั่น โรงหนัง

"ทำอย่างไรจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันก็สามารถแข่งขันได้ในพื้นที่ โดยเพิ่มสิ่งที่มากกว่าความเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่เดิมลูกค้าเดินเข้ามาเพื่อซื้อสินค้าและก็กลับบ้าน จากนี้ไม่ใช่แค่เอาเชลฟ์มาตั้งขายของ แต่ต้องให้ความสำคัญกับบรรยากาศมากขึ้น"

โรงหนัง "เมเจอร์" ลุย 10 อำเภอ

ทิศทางโมเดลช็อปปิ้งมอลล์ขนาดเล็กตามชุมชนระดับอำเภอดังกล่าวสอดคล้องภาพการลงทุนของกลุ่มโรงหนังเมเจอร์ที่มีแผนผนึกพันธมิตรขยายสาขาทั่วประเทศ ไม่เพียงการเดินหน้าขยายสาขาร่วมกับศูนย์การค้าของเซ็นทรัลกรุ๊ป และเดอะมอลล์กรุ๊ป แต่ยังเตรียมขยายโรงหนังเข้าไปเจาะตามอำเภอต่าง ๆ ด้วย

ด้วยเป้าหมายในปี 2563 ซึ่งเมเจอร์ฯระบุว่าจะมีโรงหนังทั่วประเทศ 1,000 โรง และขยายไปเจาะตามอำเภอมากขึ้น

ปีนี้จะเริ่มทดลองใน 10 อำเภอร่วมกับพันธมิตรค้าปลีก โดยอำเภอที่จะทดลองเปิดสาขาต้องมีประชากรเฉลี่ย 50,000-70,000 คน ที่ผ่านมาเมเจอร์ฯได้ลงไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละอำเภอมาบ้างแล้ว

โรบินสันย้ำ "ไลฟ์สไตล์แฟชั่น"

นางสาวจิราพรรณ ทองต้น ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าโรบินสันกล่าวว่า ได้ติดตามความเคลื่อนไหวการเพิ่มแม็กเนตของ

กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ด้วยการเพิ่มพื้นที่เช่า ดึงร้านแฟชั่น ร้านอาหารเข้ามาเปิดบริการ มาตั้งแต่ปลายปี 2556 แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่คู่แข่งกับโรบินสัน โดยเฉพาะ "โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์" ที่มีพื้นที่เช่า 15,000-16,000 ตารางเมตร เนื่องจากบริษัทเน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น สินค้าหลักจึงเป็นแฟชั่น ขณะที่เป้าหมายของไฮเปอร์มาร์เก็ตคือลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร เป็นหลัก

นางสาวจิราพรรณระบุด้วยว่า โพซิชันนิ่งที่ชัดเจนของโรบินสันคือ "ไลฟ์สไตล์แฟชั่น" จะเป็นตัวดึงลูกค้าและสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทิศทางขยายสาขายังเน้นการเปิดสาขาตามหัวเมืองรองในลักษณะไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ เนื่องจากมีขนาดตลาดไม่ใหญ่ และคู่แข่งขันไม่มาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook