แผนฟื้นฟู"บินไทย"ไม่ชัดเจน ใช้ "เออร์ลี่ รีไทร์ พลัส"ลดคน สหภาพโวยห้ามปลด!

แผนฟื้นฟู"บินไทย"ไม่ชัดเจน ใช้ "เออร์ลี่ รีไทร์ พลัส"ลดคน สหภาพโวยห้ามปลด!

แผนฟื้นฟู"บินไทย"ไม่ชัดเจน ใช้ "เออร์ลี่ รีไทร์ พลัส"ลดคน สหภาพโวยห้ามปลด!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่กระทรวงคมนาคม พล.อ.อ.ประจินให้สัมภาษณ์ถึงแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก หรือนอน คอร์ (Non-Core) ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินในลักษณะใด โดยการบินไทยต้องไปพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่าธุรกิจในส่วนไหนบ้างที่ไม่เกิดประโยชน์หรือเกิดผลกำไรขึ้นมา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการขายหุ้นก็ได้

"ตอนนี้ยังสรุปชัดเจนไม่ได้ว่าธุรกิจไหนไม่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น โรงแรม ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับการบินก็ไม่ใช่ เพราะหากเกิดปัญหาต้องนำผู้โดยสารไปพักก็ต้องนำไปพักที่โรงแรม หรือธุรกิจท่อน้ำมัน เครื่องบินของการบินไทยก็ต้องเติมน้ำมัน แต่หากเป็นท่อน้ำมันที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ก็อาจจะพิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้องกับการบินได้ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ทางการบินไทยจะต้องนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในครั้งต่อไป" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างอัตรากำลังลดจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ให้การบินไทยไปกำหนดรูปแบบการดำเนินการให้ชัดเจน การปรับลดอัตรากำลังไม่ใช่การปลดพนักงาน แต่เป็นการเปิดเกษียณอายุก่อนกำหนดแบบพิเศษ หรือเออร์ลี่ รีไทร์ พลัส จะให้ผลตอบแทนมากกว่าการเออร์ลี่รีไทร์ปกติ

ในช่วงที่ตนเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ของการบินไทย มีการกำหนดไว้ 2 แบบ คือ แบบ 30 เดือน หรือเรียกว่าแบบไม่มีเยื่อใย คือได้เงินไปก้อนหนึ่งแล้วไม่มีภาระผูกพันกับบริษัทเลย และแบบ 20 เดือน หรือเรียกว่าแบบมีเยื่อใย คือยังคงสิทธิประโยชน์บางอย่างเอาไว้ เช่น การรักษาพยาบาล เป็นต้น ส่วนรูปแบบที่การบินไทยจะดำเนินการในแผนฟื้นฟูนี้จะเป็นรูปแบบใด คงต้องรอให้มีการพิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จก่อน

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ส่วนการบริการของสายการบินไทยสมายล์ ไม่มีนโยบายที่จะให้ยุบ แต่จะปรับเส้นทางบินให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยจะยังเน้นเที่ยวบินในประเทศ และเชื่อมโยงการให้บริการกับการบินไทย ขณะที่สายการบินนกแอร์ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 39% นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู เพราะสายการบินนกแอร์มีฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการ (บอร์ด) ของตัวเองอยู่แล้ว การบินไทยเป็นหนึ่งในบอร์ดเท่านั้น ดังนั้นการจะพิจารณาในเรื่องอะไรต้องนำเสนอบอร์ดของนกแอร์ให้เป็นผู้พิจารณา

ด้าน นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.การบินไทย) กล่าวว่า การบินไทยไม่สามารถปลดพนักงานได้ เพราะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนข้อเสนอที่จะปรับลดพนักงานลง 5 พันคนนั้น จากการหารือกับฝ่ายบริหารการบินไทยพบว่าเป็นแผนดำเนินการ 5 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากพนักงานที่เกษียณอายุประมาณ 500 คนต่อปี และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประมาณ 500 คนต่อปี รวมทั้ง 2 ส่วนภายใน 5 ปี จะมีพนักงานลดลงตามแผนที่กำหนดไว้

ส่วนที่จะปรับลดได้น่าจะเป็นพนักงานที่ว่าจ้างจากภายนอก (เอาต์ซอร์ส) โดยเฉพาะกลุ่มที่ประจำสำนักงานใหญ่ การบินไทย คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1 พันคน ปัญหาของการบินไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับขยายโครงสร้างของฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีฝ่ายปฏิบัติ จึงมีการว่าจ้างพนักงานเอาต์ซอร์สเข้ามาเสริมการทำงาน มีข้อสังเกตว่าในส่วนของพนักงานประจำได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ หากมีการปรับลดในส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้ส่วนหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook