รัฐอัดฉีดตำบลละล้าน-แจกคูปองอุ้มรากหญ้า

รัฐอัดฉีดตำบลละล้าน-แจกคูปองอุ้มรากหญ้า

รัฐอัดฉีดตำบลละล้าน-แจกคูปองอุ้มรากหญ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลกระตุ้นรากหญ้า แจกเงินตำบลละ 1 ล้านบาท3,052 ตำบล 58 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯให้คูปองเกษตรกรโดยตรง ปลุกการบริโภค-ซื้อปัจจัยการผลิต 4-5 หมื่นล้าน ดีเดย์ ก.พ.นี้


แจก 1 ล้าน 1 ตำบล ช่วยภัยแล้ง
ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 3,173.9 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ส่วนงบฯกลางเพื่อกรณีเร่งด่วนและจำเป็น ตำบลละ 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด และเงินบริหารโครงการ 121.9 ล้านบาท จากบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรปี 2558 ตามแผนเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2558

เกณฑ์การสนับสนุนมี 10 ข้อ ได้แก่ 1.เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2.เป็นความต้องการของชุมชน 3.เน้นการจ้างแรงงานในชุมชน สัดส่วนคือจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของวงเงินที่ขอ 4.ดำเนินการโดยกลุ่มหรือองค์กรในชุมชน 5.ต้องให้ประโยชน์แก่ชุมชนต่อเนื่อง 6.ดำเนินการในที่สาธารณะ 7.หากก่อสร้างให้ดำเนินการตามระเบียบ 8.ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ได้รับงบฯปี"57-58 และ 10.ดำเนินการได้ทันที ผลที่คาดว่าจะได้รับคือการจ้างแรงงาน 2,014,320 คน/วันและเกิดกระแสหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน 2,441.6 ล้านบาท


เทงบฯกระตุ้นกำลังซื้อรากหญ้า

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพิจารณาการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อให้กับเกษตรกรระลอกที่ 3 วงเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท จากที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงการคลังทั้งหมด 1 แสนล้านบาท หลังก่อนหน้านี้ได้ออกมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่ชาวนาและชาวสวนยางรายละ 1,000 บาท/ไร่ และมาตรการสนับสนุนชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ตำบลละ 1 ล้านบาทไปแล้ว

มาตรการหลังนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงแก่เกษตรกรในช่วงเว้นว่างระหว่างเพาะปลูก โดยจะดำเนินการภายในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งต้องรัดกุมให้เงินถึงมือเกษตรกรได้จริง เพื่อให้เกิดการบริโภคและนำเงินกลับมายังระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ในระดับหนึ่ง มีเงินพอสำหรับอุปโภคบริโภค ซื้อปัจจัยการผลิต ถึงช่วงฤดูการเพาะปลูกใหม่ในเดือน พ.ค. 2558

"การแจกคูปองแลกซื้อวัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยการผลิตสะดวกที่สุด เพราะจ่ายเงินเข้ามือเกษตรกรโดยตรง อาจต้องกำหนดร้านค้าที่รับคูปอง เหมือนโครงการธงฟ้า"

นายปีติพงศ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรมชลประทานเคยออกมาตรการจ้างงานชาวนามาซ่อมและขุดลอกคูคลองส่งน้ำวันละ 300 บาท แต่ไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควรจากตำแหน่งงานกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง มีผู้สมัครเพียง 2 หมื่นตำแหน่ง เนื่องจากเกษตรกรในต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุอาศัยและอยู่กับเด็ก จึงไม่สามารถทำงานใช้แรงงานได้

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอรายงานการใช้ยางภายในประเทศต่อ ครม. เพื่อของบฯกลางกว่า 1,000 ล้านบาทด้วย ทั้งนี้จากการรวบรวมปริมาณยางที่จะใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐทุกกระทรวง รวบรวมปริมาณได้ 1 หมื่นตัน ที่ใช้มากที่สุดคือการทำสนามกีฬา-ลู่-ลานกรีฑาของหน่วยงานกรมพลศึกษา และการกีฬาแห่งประเทศไทย 4,855 ตัน นอกนั้นทำพื้นคอกปศุสัตว์ พื้นสระน้ำของกระทรวงเกษตรฯ และทำถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังจากนี้หากหน่วยงานใดจะเพิ่มเติมก็ยังขยายได้เพิ่มเติมในงบฯ 2559

ด้านการส่งออกยางในสต๊อกรัฐบาล ให้บริษัทไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ฯ ซึ่งเริ่มส่งออกแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 จำนวน 2,000 ตัน ขณะนี้กำลังเตรียมส่งมอบและขนถ่ายอีก 8,000 ตันแล้ว ผสมทั้งยางเก่าในสต๊อกเดิม 2.08 แสนตัน และยางใหม่ที่โครงการมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ฟันด์)ที่ประมูลซื้อเข้ามา

รายงานจากกระทรวงเกษตรฯแจ้งว่า ณ วันที่ 26 ม.ค. 2558 บัฟเฟอร์ฟันด์ประมูลซื้อยางในตลาดกลางแล้ว 5.9 หมื่นตัน มูลค่า 3,400 ล้านบาท ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 63.15 บาท/กก.


ชาวไร่ขอการันตีราคาอ้อย

สำหรับปัญหาชาวไร่อ้อยนั้นตัวแทนสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยกว่า 30 คน ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายปรับโครงสร้างการผลิตที่จูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนพืชอื่นมาปลูกอ้อยแทน 7 แสนไร่จะได้อ้อยมากขึ้น 7 ล้านตัน/ปี อาจมีปัญหาราคาตกต่ำ จึงเสนอรวมผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอ้อยบางตัว เช่น เอทานอล ไฟฟ้ามาอยู่ใน พ.ร.บ.กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อดึงเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลให้มากขึ้น เพียงพอสำหรับ

ชดเชยให้เกษตรกร แต่เรื่องนี้ยังปฏิบัติยาก เพราะการปรับจากผู้ที่ได้ผลประโยชน์เต็มหน่วยมาเข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ พร้อมกันนี้ชาวไร่ขอให้คงเงินชดเชยจากกองทุนอ้อยฯ 160 บาท/ตันที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.เท่ากับปีก่อน


4 หมื่นล้าน "สร้าง-ซ่อม" ถนน

ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ได้หารือกระทรวงคมนาคม จัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการการสร้างและซ่อมแซมถนน ปิดจุดตัด คอขวดต่าง ๆ ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะใช้งบฯ 40,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะจัดหาเงินกู้ให้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม ยังมีช่องให้กู้ภายใต้กรอบไม่เกิน 10% ของวงเงินงบฯรายจ่ายประจำปี 2558 โดยจะกู้ในประเทศด้วยการออกพันธบัตร รายละเอียดคมนาคมจะเสนอ ครม.พิจารณา ล่าสุดมีการบรรจุแผนการกู้เงินภายใต้กรอบนี้ไว้แล้ว 115,431 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.48% ของงบประมาณ จึงเหลือวงเงินที่กู้ได้อีก 142,069 ล้านบาท โดยจะกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศก็ได้


ชาวนาขอคูปองเงินสด

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า หากกระทรวงเกษตรฯออกแพ็กเกจแจกคูปองให้กับชาวนาเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรให้เป็นคูปองเงินสดไม่ใช่คูปองซื้อสินค้าวัสดุทางการเกษตร เพราะชาวนาเดือดร้อนมากมีปัญหาหนี้สินกับ ธ.ก.ส.และร้านค้า

โดยในวันที่ 30 มกราคม 2558 กลุ่มเกษตรกรทั้ง 4 สมาคมชาวนา จะประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยปัจจุบันราคาข้าว เฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ข้าวเปลือกความชื้น 18-20% เฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อตัน ปัญหาผลผลิตข้าวไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาภัยแล้ง และหนี้สิน


เสนอสร้างแท็งก์กลางเก็บสต๊อก

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่าจะตั้งคณะทำงานดูแลปัญหาราคาปาล์มหลังคณะรัฐมนตรีมีมตินำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ 50,000 ตัน โดย อคส.จะนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบลอตแรกวันที่ 29 ม.ค.นี้ 9,000 ตันจากอินโดนีเซีย ส่วนลอตที่ 2 จะนำเข้าจากมาเลเซีย 26,250 ตันในวันที่6 ก.พ. และอีก 2 ครั้งที่เหลือนำเข้าไม่เกิน15 ก.พ.58

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรขอให้ช่วยดูแลราคาไม่ให้ต่ำกว่า 5 บาท/กก. โดยผลผลิตปาล์มจะออกสู่ตลาดมากในเดือน มี.ค.-เม.ย.58 และเสนอให้มีการสร้างแท็งก์กลางเพื่อเก็บสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook