อีกขั้นของธุรกิจกรีน "ไม้ไผ่" จากงานตกแต่งสู่สถาปัตยกรรม

อีกขั้นของธุรกิจกรีน "ไม้ไผ่" จากงานตกแต่งสู่สถาปัตยกรรม

อีกขั้นของธุรกิจกรีน "ไม้ไผ่" จากงานตกแต่งสู่สถาปัตยกรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทรนด์ของตกแต่งภายในที่เป็นงานไม้ไผ่กำลังมาแรงในตลาดโลก เพราะมองกันว่าเป็นงาน "กรีน" เนื่องจากต้นไผ่เองสามารถปลูกทดแทนได้

บ้านเราก็เริ่มมีบริษัทที่ทำงานไม้ไผ่ออกมาแล้ว อย่างเช่น บริษัท กรกตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เปิดบริษัทมาถึง 8 ปีแล้ว รายได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากปีละไม่กี่ล้าน ขยับมาที่ 10 ล้าน และในปีที่ผ่านมา 13 ล้านบาท จำนวนคนงาน 40 คน และผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า แพงแต่มีเอกลักษณ์

คุณกรกต อารมณ์ดี ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท กรกตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของรางวัลดีไซเนอร์ ออฟ เดอะ เยียร์ ติดต่อกันหลายปีและล่าสุดรางวัล De Mark Award 2014 และ G-mark 2014 เปิดใจผ่านประชาชาติธุรกิจ ว่า

"งานออกแบบไม้ไผ่ล้วนๆ ตอนนี้ไม่มีคนซื้อนะ ต้องเป็นงานที่ประยุกต์ คือมีการนำไม้ไผ่ผสมกับวัสดุอื่นๆ เช่น เหล็ก ถึงจะมีคนสนใจ"

อย่างไรก็ดี งานประเภทฝีมือดีไซน์ก็ต้องออกให้ถูกตลาดด้วย กรกตโฟกัสเฉพาะงานออกแบบ เช่น งานเมซองออบเจ็กต์ ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นที่จะหาลูกค้าที่ต้องการสินค้ามีดีไซน์โดดเด่นอย่างนี้ได้ ส่วนงานอื่นๆ หาลูกค้าลำบาก

นอกจากนี้ ด้วยเทคนิคการผูกไม้ไผ่ยังขยายไปสู่งานอื่นๆ เช่น งานออกแบบ ตกแต่งภายใน ซึ่งเขาทำมาหลายโรงแรมทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะโรงแรมในกลุ่มบรรยากาศซัมเมอร์ รีสอร์ตติดทะเลตามที่ต่างๆ เขาก็เดินทางไปเสนองานมาแล้ว เช่น งานรีสอร์ต Spring Filed ชะอำ, แชงกรี-ลา ฟิลิปปินส์ มาเก๊า เชียงไฮต์ และโรงแรมที่อินเดีย ส่วนงานออร์เดอร์รับแต่ต้องขยายความสามารถในด้านอื่นๆ ของงานไม้ไผ่ไปด้วย

คุณกรกต ระบุว่า งานสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ที่แรกที่จะไปออกแบบให้ คือ รีสอร์ตที่อัมพวา บนเนื้อที่ 13 ไร่ ประกอบด้วยตัวรีสอร์ต 40 ห้อง ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ซึ่งจะเป็นการใช้ไม้ไผ่ร่วมกับการออกแบบก่อสร้าง ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำโมเดลก่อนในเบื้องต้น จากนั้นจะเริ่มลงมือทำงานและต้องเสร็จภายในปีนี้แน่นอน "ระหว่างนี้ผมเดินทางไปที่บาหลีที่ IBuku รีสอร์ต เพื่อไปดูงานด้านสถาปัตยกรรม แล้วนำมาปรับใช้"

รีสอร์ตแห่งนี้มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และกรกตรับค่าเหนื่อยเป็นตัวเลข 7 หลัก

นอกจากนี้ ยังมีงานอีกส่วน คือ ต้องปรับโรงงานเก่าของครอบครัวมาปรับปรุงใหม่ให้เป็นที่เก็บสต๊อกสินค้าและมีระบบมากขึ้น ซึ่งเขาลงทุนไป 3 ล้าน และยังคงต้องปรับเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ไม่เน้นในเรื่องของการไปกู้ธนาคาร "เรามีความทรงจำไม่ดีเกี่ยวกับธนาคารและไม่อยากจะไปกู้อีก ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ จะดีกว่า"

ส่วนอุปสรรคหนึ่งของการเติบโตก็คือ "ราคา" เขาเน้นว่า "ค่าความคิดสร้างสรรค์มาจากเชื้อชาติ เราเป็นคนไทย เขามองเราอีกแบบ และให้ราคาต่ำ เราต้องเอาผลงานที่ทำกับโรงแรมต่างๆ มาแสดงเขาถึงจะยอมรับ"

วันนี้แม้หน่วยงานต่างๆ กำลังพยายามที่จะสร้างรากเหง้าของเราให้กลายเป็นสินค้าเอกลักษณ์ อยู่บนเวทีโลก แต่เราไม่ลืมเรื่องของ "ตลาด" และภาระที่ผู้ประกอบการจำจะต้องสร้างรายได้ หลังจากที่ขยับจากนักออกแบบไปสู่ผู้ประกอบการ รูปบริษัทแล้ว การออกแบบ และงานที่มีราคาแพงอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะไปรอด หากไม่พยายามมองหาตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้หลายรายอาจจะสอบผ่าน

แต่อีกหลายรายก็อาจจะต้องการเครื่องมือจากภาครัฐเพื่อประคับประคองอีกด้วย ไอเดียดีๆ ไม่พอหรอก หากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้จริง ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook