สุดทน! แท็กซี่ขอขึ้นค่าโดยสารอีก13% รถร่วมเอาด้วยเพิ่ม3บาท - รอ"ประจิน"เคาะ
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้หารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึงผล กระทบจากการขึ้นราคาพลังงาน โดยเรียกร้องให้ ขบ.ทบทวนการปรับขึ้นค่าโดยสารระยะสองใหม่ โดยขอเพิ่มจาก 5% เป็น 13% และให้มีผลบังคับใช้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2558 เป็นภายในเดือนเมษายน 2558 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่ หลังจากกระทรวงพลังงานได้ปรับขึ้นก๊าซเอ็นจีวีอย่างต่อเนื่องจนทำให้ต้นทุน ผู้ขับแท็กซี่สูงขึ้นประมาณ 100 บาทต่อกะ (12 ชั่วโมง)
"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแท็กซี่ตกลงเงื่อนไขการขึ้นค่าโดยสารไว้ที่ 13% แบ่งเป็นการขึ้นรอบแรก 8% และรอบสองในครึ่งปีหลังอีก 5% ซึ่งไม่รวมกับค่าก๊าซที่เพิ่มขึ้น แต่มาวันนี้เมื่อค่าก๊าซเพิ่มขึ้น เมื่อหักกับค่าโดยสารที่เพิ่มแล้วก็แทบไม่เหลืออะไร ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมจึงอยากให้รัฐขึ้นค่าโดยสารอีก 13%" นายวิฑูรย์กล่าว และว่า หากรัฐบาลไม่ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารก็ขอให้มีมาตรการช่วยเหลืออื่น เช่น การขายก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีให้แท็กซี่ราคาเดิม หรือเพิ่มวงเงินชดเชยเอ็นจีวีจากปัจจุบันที่ได้รับกิโลกรัมละ 3 บาท เป็น 4.50 บาท เพื่อให้ครอบคลุมกับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหรือรถร่วมบริการ ขสมก. กล่าวภายหลังหารือกับสมาชิกเกี่ยวกับผลกระทบค่าก๊าซที่สูงขึ้นว่า สมาคมมีสมาชิกกว่า 2,000 คัน และรถร่วมที่ไม่เป็นสมาชิกอีกกว่า 1,000 คัน เห็นชอบร่วมกันให้ตัวแทนยื่นหนังสือต่อกระทรวงคมนาคมในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เพื่อขอให้พิจารณาขึ้นค่าโดยสารรถธรรมดาอีก 3 บาท หรือจาก 8 บาท เป็น 11 บาท และรถโดยสารปรับอากาศขึ้นอีก ระยะละ 3 บาท เช่น ปรับราคาเริ่มต้นจาก 11-12 บาท เป็น 14-15 บาท โดยขอให้พิจารณาด่วนภายใน 1 สัปดาห์
"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถร่วมไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมาแล้ว 6-7 ปี ทั้งที่ค่าครองชีพ ค่าอะไหล่ ค่าแรงปรับเพิ่มมา ประกอบกับกระทรวงพลังงานมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ ทำให้ผู้ประกอบการต้องขาดทุนเพิ่ม ส่งผลให้มีรถหยุดวิ่งไปแล้วกว่าพันคัน หากรัฐยังไม่ยอมให้ขึ้นค่าโดยสารอีก อาจมีรถร่วมเอกชนทยอยหยุดให้บริการเพิ่ม เพราะไม่มีเงินไปจ่ายค่าก๊าซ โดยแม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือต้นทุนค่าก๊าซเอ็นจีวีภาคขนส่งให้ซื้อราคาถูกกว่าปกติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะจำกัดวงเงินคันละไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น" นางภัทรวดีกล่าว
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า ปัญหาของแท็กซี่มิเตอร์ไม่สามารถตัดสินด้วยความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เป็นประธาน และมีคณะทำงานชุดย่อยอีก 3 ชุดพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ศึกษาต้นทุนของ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ 2.การพิจารณาเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการแท็กซี่
"การเก็บข้อมูลของคณะทำงานอาจต้องใช้เวลาดังนั้นอาจจะดูเหมือนว่ารัฐมนตรีทำงานล่าช้า แต่ขอบอกว่าทำงานช้า แต่ข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง ดีกว่าทำงานเร็วแล้วเกิดความผิดพลาด" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า สำหรับการเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารของรถร่วม ขสมก.นั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่เคยพิจารณาเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นจะต้องขอเวลา แต่เนื่องจาก ขสมก.อยู่ในช่วงที่มีการเสนอแผนปฏิรูปองค์กร โดยการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูจะมีการพิจารณาภาพรวมเรื่องการปรับเส้นทางเดินรถ การปรับปรุงการให้บริการ ตลอดจนเรื่องการหาผู้ร่วมทุนในการเดินรถเมล์รายอื่นด้วย จึงต้องรอให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน