เอ็นจีโอคัดค้านขึ้น "ค่าแท็กซี่"ซ้ำเติมคนจน
ถือเอาเปรียบผู้โดยสารทั้งที่ต้นทุนต่ำกว่าผลกำไรมาอย่างยาวนานนับสิบปี แต่พอราคาก๊าซเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่กลับผลักภาระให้ผู้บริโภคทันที ทั้งๆที่ราคา ควรเริ่มต้นที่ 30 บาทเท่านั้น
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกโรงคัดค้านแนวคิดการขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ของกระทรวงคมนาคมว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมและกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่
พยายามผลักดันให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ โดยจะเสนอปรับขึ้นค่าโดยสารเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0-1 อัตราค่ามิเตอร์ 35 บาท กิโลเมตรที่ 2-50 อัตราค่ามิเตอร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% กิโลเมตรที่ 51-150
เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% และมากกว่า 151 กิโลเมตรเป็นต้นไป อัตราค่ามิเตอร์เพิ่มขึ้น 15% และหากรถติดไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.50 บาท/นาที เป็น 2.50 บาท/นาทีนั้น
ข้อเสนอดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอคัดค้านอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพราะหากปล่อยให้แท็กซี่ย่ามใจขึ้นราคาได้ตามอำเภอใจ ทั้ง ๆ ที่ราคาตามมิเตอร์แท็กซี่ในอดีตที่ผ่านมามิได้สะท้อนปัญหาต้นทุนและราคาที่แท้จริง
จนสามารถสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการและคนขับได้อย่างเต็มกอบเต็มกำในอดีตที่ผ่านมา จนทำให้เกิดแท็กซี่เพิ่มขึ้นมามากกว่า 100,000 คันในปัจจุบัน
ทำให้คนต่างจังหวัดทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวเข้ามาทำงานขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลกันเป็นจำนวนมาก แต่พอราคาก๊าซเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กลับร่วมหัวกันจ้องที่จะมาผลักภาระเอาเปรียบผู้โดยสารหรือผู้บริโภคอย่างไม่ละอาย
ในยามที่ข้าวยากหมากแพงไปทั้งแผ่นดิน หลังวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมมิอาจยอมรับได้
เมื่อพิจารณาถึงการบริหารจัดการระบบรถแท็กซี่และการคำนวณต้นทุนของการขับแท็กซี่แต่ละคันแล้วจะพบว่าปัจจุบันมีแท็กซี่วิ่งให้บริการจริงเพียง 7- 80,000 คันเท่านั้น
และส่วนใหญ่ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนมีผู้โดยสารเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นการวิ่งรถเปล่าตระเวนหาผู้โดยสาร ทำให้สูญเสียพลังงานหรือเผาก๊าซไปฟรี ๆ โดยเปล่าประโยชน์
ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลควรจะกำหนดมาตรการให้รถแท็กซี่จอดรอรับผู้โดยสารเป็นจุด ๆ มากกว่า เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรและปัญหาควันพิษ หรือส่งเสริมมาตรการโทรเรียกแท็กซี่ผ่านศูนย์ฯ
ซึ่งได้มีการลงทุนและกำหนดให้รถแท็กซี่มีระบบดังกล่าวไปแล้ว แต่กลับไม่ส่งเสริมหรือบังคับให้มีการใช้อย่างเต็มศักยภาพ
เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายและรายได้ต่อกะของแท็กซี่ ๆ จะมีรายจ่ายกะละประมาณ 7-900 บาทจากค่าก๊าซและค่าล้างรถเท่านั้น แต่มีรายได้เฉลี่ยต่อกะ 1,200-1,500 บาท
ซึ่งจะมีเงินเหลือเฉลี่ย 500 บาทขึ้นไป ซึ่งมากกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลจะประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้อีก ซึ่งแม้ราคาก๊าซจะปรับขึ้นไปอีกเท่าตัว ก็ไม่ทำให้รายได้ลดลงมากนัก
เพราะรัฐบาลยังอุดหนุนแท็กซี่ผ่านนโยบายบัตรเครดิตพลังงานอยู่มาก ซึ่งยังทำให้แท็กซี่อยู่ได้ในปัจจุบันและในอนาคต
ที่สำคัญการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น รัฐบาลต้องต้องควบคุมค่าเช่าของอู่แท็กซี่ เพื่อให้คนขับแท็กซี่เช่ารถมาขับได้ในราคาค่าเช่าที่เป็นธรรม และหากใช้มาตรการย้อนศร
โดยปรับลดราคาแท็กซี่ลงมาเริ่มต้นที่ 30 บาท เชื่อว่าจะจูงใจให้คนใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าการจะปรับราคาแท็กซี่ให้สูงขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคที่มีรถไม่อยากนำรถส่วนบุคคลของตนออกมาขับลูกค้าของแท็กซี่ก็จะเพิ่มขึ้นทวีคูณ
ทั้งนี้หากรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะรวมหัวกับกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่ขึ้นราคาค่าแท็กซี่เอาเปรียบผู้โดยสาร สมาคมฯก็จะร่วมมือกับผู้โดยสารทั่วกรุงฟ้องศาลปกครองเพิกถอนหรือยับยั้งมติดังกล่าวโดยทันที
ขอบคุณข้อมูล ThaiPBS