ทุ่ม2แสนล้าน! แบงก์รัฐอัดฉีดช่วย"คนจน"ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ-พักหนี้ เสนอ"บิ๊กป้อม"เคาะ

ทุ่ม2แสนล้าน! แบงก์รัฐอัดฉีดช่วย"คนจน"ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ-พักหนี้ เสนอ"บิ๊กป้อม"เคาะ

ทุ่ม2แสนล้าน! แบงก์รัฐอัดฉีดช่วย"คนจน"ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ-พักหนี้ เสนอ"บิ๊กป้อม"เคาะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) รวบรวมมาตรการเพื่อเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นัดประชุมวันที่ 16 กุมภาพันธ์

"แม้เรื่องนี้เป็นการดำเนินการโดย คสช. ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นการช่วยกันทำงานเพื่อประชาชน โดยในส่วนของ ธ.ก.ส.มี 4 โครงการที่จะมีการพักหนี้ให้ รวมถึงปล่อยสินเชื่อเพิ่มเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ส่วนธนาคารออมสิน เตรียมเสนอ 4-5 โครงการ" นาย สมหมายกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า แบงก์รัฐเตรียมกว่า 20 โครงการวงเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ธ.ก.ส.4-5 โครงการวงเงินกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท ธนาคารออมสิน 8 โครงการวงเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 5 โครงการวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) 1 โครงการวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท


-ธกส.ยืดเวลาเกษตรกรใช้หนี้

รายข่าวแจ้งว่า ธ.ก.ส. มีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร สำหรับลูกหนี้เกษตรกรเดิมที่ยังค้างชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. จากเหตุผิดปกติ เช่น หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ขาดรายได้อาจต้องเลิกประกอบอาชีพ และไม่มีที่ดินทำกิน คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท มีลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 5 หมื่นราย โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดย 2 กลุ่มแรกคือลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างนานพอสมควรโอกาสฟื้นยาก และลูกหนี้ค้างชำระแต่ยังมีศักยภาพที่จะชำระหนี้ต่อไปได้ ธ.ก.ส.จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้ นานขึ้น

"ส่วนกลุ่มสุดท้าย ลูกหนี้ที่ได้รับผล กระทบจากราคาข้าวและยางตกต่ำ ธ.ก.ส. จะปรับโครงสร้างหนี้ ขยายระยะเวลาชำระเฉพาะเงินต้นออกไป 1 ปี แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยคงเดิม เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรนอกจากนี้จะได้รับวงเงินสินเชื่อสนับสนุนเพื่อการฟื้นฟูตามแผนการผลิต ผ่านมาตรการสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่มีอยู่แล้วดอกเบี้ยอัตราพิเศษ วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อราย ทั้งนี้ ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมไว้ไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท" รายงานข่าวระบุ

-ออมสินชง6โครงการ5.5หมื่นล.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินมี 6 โครงการ วงเงินรวม 5.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อประชาชนสุขใจ กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปและธนาคารประชาชน วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อต่อรายตั้งแต่ 1 หมื่นบาทแต่ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ระยะเวลา 10 ปี 2.โครงการสินเชื่อออมสุขใจ วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ต้องฝากเงิน 3 เดือน 6 เดือนและ 10 เดือน และจะให้สินเชื่อต่อราย 5 เท่าของเงินฝากรายละไม่เกิน 2 แสนบาททันที ไม่ต้องวิเคราะห์สินเชื่อ ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ระยะเวลา 5-8 ปี กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปและมนุษย์เงินเดือนคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ 2 แสนราย

นายชาติชายกล่าวว่า 3.โครงการสินเชื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือพนักงานโรงงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 แสนบาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่หน่วยงานต้นสังกัดหักบัญชีเงินเดือนนำส่งแบงก์ ดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน ระยะเวลา 5-8 ปี 4.โครงการสินเชื่อคืนความสุข ภาค 2 วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับลูกค้าที่ผ่อนชำระดีในรอบ 12 เดือน ขยายวงเงินสินเชื่อเป็น 1.5 หมื่นบาทถึง 4 หมื่นบาทต่อราย คิดดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน ระยะเวลา 3-5 ปี คาดว่าจะดูแลกลุ่มลูกค้าธนาคารประชาชนได้ประมาณ 5 แสนราย จากทั้งหมด 1 ล้านราย

-ปล่อยกู้เอสเอ็มอีหมื่นล้าน

นายชาติชายกล่าวว่า 5.โครงการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท จะร่วมกับพันธมิตร อาทิ ทางจังหวัด หอการค้าแห่งประเทศและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อคัดเลือกและจัด 10 อันดับธุรกิจที่ควรให้การสนับสนุนสินเชื่อและดอกเบี้ยพิเศษ โดยกลุ่มธุรกิจอันดับ 1-3 จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ อันดับ 4-6 จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษรองลงมา ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองกลุ่มนี้ประมาณ 0.5-1% ส่วนอันดับ 6-10 จะได้รับอัตราดอกเบี้ยปกติ สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี ระดับวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท เป็นธุรกิจดาวเด่นของจังหวัด เช่น บริการ ท่องเที่ยวและศิลปหัตถกรรม

นายชาติชายกล่าวว่า 6.โครงการสินเชื่อบ้าน วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท จะประเมินลูกค้าเดิมที่มีความสามารถผ่อนชำระเงินกู้มาแล้ว จะให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเท่ากับวงเงินที่ผ่อน ดอกเบี้ย 6.875% กำลังพิจารณาอยู่ว่ามีลูกค้าเดิมที่จะดูแลได้จำนวนเท่าไร

-อัดฉีดกองทุนหมู่บ้าน4.3หมื่นล.

นายชาติชายกล่าวว่า นอกจากนี้ ธนาคารออมสินเตรียมมาตรการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสำหรับกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 4.3 หมื่นล้านบาท มี 2 โครงการ คือ 1.ยกระดับกองทุนหมู่บ้าน มีวงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อดูแลกองทุนหมู่บ้านกว่า 3 หมื่นกองทุน สำหรับยกระดับกองทุนหมู่บ้านที่ดี 1 หมื่นกองทุน วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท กองทุนละ 1 ล้านบาท และเพื่อการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน 2 หมื่นกองทุน วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท กองทุนละ 5 แสนบาท ส่วนนี้รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ย 1.5% และจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 3% ไม่ชดเชยเงินต้น

นายชาติชายกล่าวว่า 2.สนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านมีวงเงินสินเชื่อ 2.3 หมื่นล้านบาท เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ ซ่อมสร้างทาง หมู่บ้านละ 3 แสนบาท กว่า 7 หมื่นหมู่บ้าน ในส่วนนี้รัฐบาลจะรับภาระจ่ายชดเชยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน

-ธอส.ช่วยคนจนมีบ้าน-ดบ.ถูก

ด้านนางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ธอส.เตรียมเสนอ 5 โครงการ วงเงินสินเชื่อ 2.55 หมื่นล้านบาท โครงการใหม่คือ สินเชื่อบ้านผู้มีรายได้น้อย วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่าอัตราปัจจุบันที่ปล่อยกู้ 0.87% แต่ต้องพิจารณาความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและ หัวเมืองใหญ่

นางอังคณากล่าวว่า ส่วนที่เหลือ 4 โครงการ เป็นโครงการเดิมที่ ธอส.จะทำต่อเนื่อง ได้แก่ 1.สินเชื่อของขวัญปีใหม่ 2558 จะปล่อยวงเงินกู้เพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ไปหมดแล้ว 2.ธอส.เพื่อสานฝันคนมีรายได้น้อย ปล่อยกู้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงิน 8,000 ล้านบาท 3.บ้าน ธอส.เพิ่มสุข เพื่อปรับปรุงบ้านและการซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน วงเงิน 2,500 ล้านบาท และ 4.โครงการบ้านเอื้ออาทร วงเงิน 2,000 ล้านบาท

- เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้โอท็อป

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์จะปล่อยกู้ให้กับโอท็อป วิสาหกิจชุมชน หรือ ผู้ประกอบการขนาดเล็กทั่วไป วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย โดยเม็ดเงินที่นำมาใช้ในโครงการนี้ทางกองทุนประกันสังคมนำมาฝากกับธนาคารโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่ทั่วประเทศ ทำให้มีเม็ดเงินใหม่ลงสู่รากหญ้า

นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า ธสน.เตรียม 5 โครงการวงเงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาท แม้จะไม่ใช่โครงการที่ คสช.สั่งมา แต่เป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.สินเชื่อเอสเอ็มอี ส่งออกสบายใจ วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น วงเงินสูงถึง 6 เท่าของหลักประกัน 2.สินเชื่อเอสเอ็มอี ค้าชายแดน วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.สินเชื่อเอสเอ็มอี ขยายฐาน วงเงินกู้ระยะยาว วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท กู้ได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินอื่น ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี 4.สินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเงินกู้ระยะ 15 ปี และ 5.สินเชื่อเพิ่มพลังผู้ซื้อขาย เป็นแพคเกจทางการเงินที่ให้ผู้ส่งออกไทยนำไปเสนอผู้ซื้อในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อซื้อสินค้าและบริการของผู้ส่งออกไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook