แห่เปิดแท็กซี่ "ไฮโซ" แข่งนครชัยแอร์ "ค่ายรถ" รุม2หมื่นคันจ่อปลดระวาง

แห่เปิดแท็กซี่ "ไฮโซ" แข่งนครชัยแอร์ "ค่ายรถ" รุม2หมื่นคันจ่อปลดระวาง

แห่เปิดแท็กซี่ "ไฮโซ" แข่งนครชัยแอร์ "ค่ายรถ" รุม2หมื่นคันจ่อปลดระวาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลาดแท็กซี่เนื้อหอม รถเก่า 2 หมื่นคันเข้าคิวปลดระวาง ค่ายรถจ้องตาเป็นมัน "โตโยต้า" เปิดเกมรุกเต็มสูบหนุน "เคพีเอ็น" ผนึก 5 ดีลเลอร์โตโยต้าส่ง "คัมรี่-ฟอร์จูนเนอร์-อินโนว่า" ลุยแท็กซี่ วี.ไอ.พี. ตั้งเป้า 5 พันคัน หลังนครชัยแอร์เลือกใช้ "พริอุส" สร้างมาตรฐานใหม่แท็กซี่ไทย

แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระแสการช่วงชิงตลาดแท็กซี่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากขณะนี้มีรถแท็กซี่จำนวน 2 หมื่นคัน กำลังจะหมดรอบอายุการใช้งาน ตาม พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางบก ซึ่งกำหนดอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปีนับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก แม้จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอยืดอายุการใช้งานต่ออีก 2 ปี ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มตลาดแท็กซี่จะเน้นหนักไปที่รถยนต์นั่งขนาดกลางเครื่องยนต์ 1,500-1,600 ซีซี
แต่ช่วงหลังนี้กลุ่มรถแท็กซี่พัฒนาไปมาก เพราะนิยามของรถแท็กซี่เปิดกว้างรองรับทั้งรถเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวน รถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน รถยนต์นั่งสามตอนแวน ทำให้ตลาดยิ่งขยายตัวมากขึ้น โดยข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ ประเภท รย. 6 รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน Urban Taxi มีปริมาณสะสมถึง 112,682 คัน

แหล่งข่าวระดับบริหารจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โตโยต้าให้ความสนใจกับตลาดแท็กซี่มาก เพราะที่ผ่านมารถยนต์โตโยต้าได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ โดยบริษัทได้พยายามผลักดันให้ดีลเลอร์บุกตลาดกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ผ่านการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ซึ่งสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 90%

ทั้งนี้ โตโยต้าได้ยกเลิกไลน์ผลิตรถโตโยต้า ลิโม่ (แท็กซี่) ไปตั้งแต่ปี 2556 แล้ว โดยได้ผลิตรถยนต์นั่งโตโยต้า อัลติส รุ่น 1.6J และ 1.6 ซีเอ็นจี เกียร์ธรรมดาขึ้นมาเพื่อทดแทนรุ่นเดิมเพื่อป้อนตลาดแท็กซี่ แต่ปรากฏว่าพฤติกรรมของผู้ขับรถแท็กซี่ และอู่แท็กซี่ส่วนใหญ่ เริ่มปรับพฤติกรรมหันมาใช้รถโตโยต้า อัลติส 1.6G ซึ่งเป็นรถเกียร์อัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น เพราะสภาพจราจรในบ้านเราติดขัด รถเกียร์อัตโนมัติซึ่งสะดวกสบายได้รับความนิยมมากขึ้น

นายเกียรติศักดิ์ กีรติยากรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.พี.เอ็น. มอเตอร์คาร์ จำกัด กล่าวว่า เดิมบริษัททำตลาดแท็กซี่ซึ่งมีลูกค้าให้ความสนใจเยอะ ล่าสุดได้จัดตั้งโครงการ "Taxi V.I.P." โดยจับมือกับดีลเลอร์โตโยต้า 5 ราย เพื่อทำแท็กซี่ V.I.P. ออกสู่ตลาด โดยจะจัดซื้อรถยนต์โตโยต้าทั้งอัลติส, อินโนว่า, ฟอร์จูนเนอร์ และคัมรี่ มาทำเป็นแท็กซี่ วี.ไอพี. เพื่อนำเสนอให้กับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อและเลือกซื้อแท็กซี่ วี.ไอ.พี. ได้ที่โชว์รูม 30 แห่ง ของดีลเลอร์ 5 ราย ได้แก่ โตโยต้า เค.มอเตอร์, โตโยต้า เมืองนนท์, โตโยต้า บางกอก, โตโยต้า นนทบุรี และโตโยต้า ลิบรา และสามารถเข้าใช้บริการหลังการขายที่โชว์รูมได้ตามปกติ

เบื้องต้นตั้งเป้ายอดขายแท็กซี่ วี.ไอ.พี.ไว้ 500-800 คัน แต่หลังจากได้จับมือกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ครั้งนี้แล้ว หากมีความเป็นไปได้ก็หวังว่าจะมียอดขายได้ถึงระดับ 2,000 คัน หรืออาจจะเพิ่มเป็น 5,000 คัน

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดบริการสำหรับผู้ที่สนใจด้วยการนำเสนอราคาที่ดาวน์ต่ำดอกเบี้ยถูก หรือจะเลือกผ่อนดาวน์ 0% นาน 10 เดือน และผ่อนค่างวดเฉลี่ยเพียงวันละ 500 กว่าบาท พร้อม พ.ร.บ. และประกันภัยชั้น 1 รวมถึงยังเปิดช่องให้กลุ่มผู้ลงทุนที่ต้องการเปิดกิจการรถแท็กซี่ให้เช่าเป็นของตนเอง ได้เข้ามาปรึกษาเพื่อขยายธุรกิจเกี่ยวกับกลุ่มรถเช่าในระยะยาว

ขณะที่นายประพัฒน์ เชยชม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นิสสันก็มีรถยนต์ที่สามารถรับโครงการแท็กซี่ใหม่ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและความสะดวกมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในทางที่ดีกับตลาดแท็กซี่ ซึ่งพยายามผลักดันให้ดีลเลอร์ใส่ใจกับตลาดนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ค่ายรถยนต์หลายรายมองว่า ข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับแท็กซี่ที่กำหนดเครื่องยนต์ 1500 ซีซีขึ้นไป น่าจะเกินความจำเป็นและส่วนใหญ่วิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมือง ซึ่งไม่ได้ใช้ความเร็วมาก หากต้องการพัฒนาบริการให้มีคุณภาพอย่างแท้จริงน่าจะสนับสนุนให้อีโคคาร์เข้าร่วม เพราะเป็นรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะสมกับการใช้งานในเมือง และมีอีโคคาร์หลายรุ่นที่มีขนาดใหญ่

นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้แตกไลน์ธุรกิจมาเปิดตัวบริการรถแท็กซี่รูปแบบใหม่

"ออล ไทย แท็กซี่" โดยใช้งบประมาณลงทุนราว 700 ล้านบาท โดยตัดสินใจซื้อรถโตโยต้า พริอุส ไฮบริด จำนวน 500 คัน มาให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน หรือเรียกผ่านสายด่วน 1624 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มทดลองให้บริการในช่วงเดือนเมษายนนี้

ด้านนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีนโยบายในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการแท็กซี่ทุกรายปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น และการที่มีผู้ใช้บริการได้เริ่มให้ความสนใจและพัฒนารูปแบบการให้บริการรถแท็กซี่ครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง เพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่ไทยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook