วิธีวางแผนการเงิน (ตอน 1)
หลังจากที่เราได้พูดคุยกันมา 3 ตอน ทุกคนคงเห็นด้วยกับนิแล้วใช่มั้ยคะว่า ‘การวางแผนการเงินสำคัญจริงๆ’ ถึงตอนนี้ อยากจะมาลองวางแผนการเงินกันดูมั้ยคะ วันนี้นิก็เลยจะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า หากอยากวางแผนการเงิน ต้องทำอย่างไรอย่างไรบ้างค่ะ
ขั้นตอนการวางแผนการเงิน แสดงได้ดังรูปต่อไปนี้ค่ะ
กระบวนการวางแผนการเงินนั้น เปรียบไป ก็เหมือนการวางแผนการเดินทาง ดังนั้นก่อนที่เราจะออกเดินทาง เราต้องรู้ตำแหน่งที่อยู่หรือจุดตั้งต้นของตัวเองเสียก่อน การทำความรู้จักตัวเองก่อนจะเริ่มวางแผนการเงิน เรียกว่าเป็นการวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินของตัวเอง หรือพูดให้ง่ายขึ้นไปอีกก็คือ การตรวจสุขภาพทางการเงินนั่นเองค่ะ
ดังนั้นขั้นแรกของการวางแผนการเงินก็คือ การสำรวจตัวเองหรือการตรวจสุขภาพทางการเงิน โดยปกติในขั้นนี้นิจะถามผู้เข้ารับคำปรึกษา (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคุณลูกค้านั่นเอง) ว่า คุณลูกค้าเคยตรวจสุขภาพประจำปีมั้ยคะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า เคยตรวจ เราตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อดูความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย และถ้าหากเกิดความผิดปกติใดๆ กับร่างกายเราจะได้ดูแลรักษาได้ทันท่วงที ถูกต้องมั้ยคะ ในทำนองเดียวกัน การตรวจสุขภาพทางการเงิน ก็คือ การตรวจสอบดูว่าสถานะทางการเงินของเราเป็นอย่างไร มีเงินออมมากพอมั้ย สภาพคล่องมีมั้ย มีหนี้สินมากไปหรือเปล่า และสัดส่วนการลงทุนของเราเป็นอย่างไร เป็นต้น
การตรวจสุขภาพทางการเงินจะทำผ่านงบการเงินส่วนบุคคลค่ะ เอ ว่าแต่ แล้วเจ้างบการเงินส่วนบุคคลคืออะไร
งบการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Statement) แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. งบดุลส่วนบุคคล (Personal Balance Sheet) เป็นงบที่แสดงฐานะทางการเงินของบุคคล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ว่าบุคคลนั้นรวยแค่ไหน รวยจริงหรือไม่ (หรือภาษาทางการเงินก็คือ มีความมั่งคั่งสุทธิมากแต่ไหน) โดยวิธีการก็คือ จะสำรวจทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อหาความมั่งคั่งสุทธิ โดยนำสินทรัพย์ ลบหนี้สิน เหลือเท่าไหร่ นั่นแหละค่ะ ที่เราเรียกว่า ความมั่งคั่งสุทธิ หรือ Net Worth
ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) = สินทรัพย์ (Assets) – หนี้สิน (Debt)
2. งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล (Personal Cash Flow Statement) เป็นงบที่วัดกระแสเงินเข้า (รายได้) และเงินออก (รายจ่าย) หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั่นเอง
กระแสเงินสดสุทธิ (Net Cash Flow) = รายได้ (Income) – รายจ่าย (Expense)
จาก 2 งบดังกล่าว ก็จะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้สุขภาพทางการเงินของเราเป็นอย่างไรค่ะ
ขั้นถัดมา เราก็มากำหนดเป้าหมายทางการเงินกันค่ะ ซึ่งเป้าหมายทางการเงินก็มาจากเป้าหมายชีวิตนั่นแหละ เช่น อยากเกษียณอายุอย่างมั่งคั่ง อยากส่งลูกเรียนจบระดับปริญญาโทต่างประเทศ เป็นต้น เมื่อเรารู้สถานะทางการเงินของตัวเอง และรู้เป้าหมายทางการเงิน ก็มาวิเคราะห์ว่าด้วยสถานะในปัจจุบันจะสามารถพาเราไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราต้องการได้หรือไม่ ถ้าได้คุณก็ไม่ต้องกังวล เพราะแค่ทำเท่าที่เคยทำมาก็ไปถึงฝันได้แน่ๆ แต่ถ้าไม่ได้ แปลว่ายังขาดอยู่ ส่วนที่ขาดอยู่เราเรียกว่า financial gap หรือช่องว่างทางการเงิน ซึ่งเราก็ต้องมาจัดทำแผนการเงิน เพื่อปิดช่องว่างทางการเงินนั้นๆ ค่ะ
เมื่อทำแผนการเงินแล้ว ก็ต้องลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ จากนั้นก็มีการทบทวนและปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเรายัง on track หรือยังอยู่บนเส้นทางตามแผนการเงินของเราที่ได้วางไว้ และในที่สุดคุณก็จะบรรลุเป้าหมายและเข้าสู่เส้นชัยตามที่ตั้งใจไว้ค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะ วิธีวางแผนการเงินไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยใช่มั้ยคะ คราวหน้านิจะมาเล่าให้ฟังกันต่อว่า แล้วแผนการเงินที่ว่านั้นมีกี่แผน และเป็นแผนอะไรบ้าง อย่าลืมติดตามนะคะ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงินได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com แล้วพบกันค่ะ
ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ และ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’