ของแพง แซงหน้าค่าแรง ทำคนไทยก่อหนี้เพิ่ม
ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มก่อหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับความสามารถชำระหนี้ที่ลดลง สาเหตุจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการวิจัย เรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ว่าภาระหนี้ภาคครัวเรือนเริ่มมีสัดส่วนการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น
โดยจำนวนหนี้เฉลี่ยของครัวเรือน อยู่ที่ระดับ 168,517 บาท จาก 159,432 บาท ในปีก่อนหน้า หรือมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของหนี้นอกระบบถึงร้อยละ 53.6 ขณะที่หนี้ในระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.4
สำหรับทัศนะต่อค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น กลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ยังมองว่าค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นไม่มากนัก
เนื่องจากเชื่อว่า ราคาสินค้าก็ปรับตัวขึ้นตาม ซึ่งส่งผลให้การออมและการบริโภคโดยรวมจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามรายได้ แม้ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสาเหตุสำคัญมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
แม้จะมีการปรับค่าแรงงาน 300 บาทหรือร้อยละ 40 ซึ่งมีผลต่อจีดีพีเพียง 7,000-9,000 ล้านบาท หรือแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 1,800 บาทต่อเดือนต่อคน มีจำนวนแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่ม 3 ล้าน 5 แสนคน
ขอบคุณข้อมูล VoiceTV