ลูกหนี้นอกระบบไม่ผ่านเกณฑ์กู้ยืมเกือบ 30,000 ราย
ผู้ขอเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเกือบ 3 หมื่นรายไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าร่วม เพราะว่าไม่มีอาชีพ หรือมีอาชีพ แต่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้
จากการพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนเข้าร่วม โครงการไว้กว่า 1.18 ล้านคน มีมูลค่าหนี้ 122,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 360,000 ราย เป็นเงินให้กู้กว่า 33 ล้านบาท มีผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 29,090 คน ซึ่งจำนวนนี้ เป็นกลุ่มผู้ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ หรือบางรายมีอาชีพ แต่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้
รัฐบาล สั่งการให้กระทรวงแรงงาน แก้ปัญหาผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การกู้ยืม ด้วยการจัดหาตำแหน่งงานว่างให้ ซึ่ง น.ส.ส่งศรี บุญมา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างกว่า 190,000 อัตรา แต่ไม่สามารถรองรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์กู้ยืมได้ทั้งหมด เนื่องจากผู้กู้ยืมบางรายไม่เข้าข่ายที่นายจ้างต้องการ เช่น มีอายุมากเกินไป หรือมีคุณวุฒิ และความสามารถ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน
ปัญหา นี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า การใช้นโยบายให้กู้ยืม เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากแม้ว่าจะดำเนินโครงการนี้มาแล้วระยะหนึ่ง แต่เมื่อเปรียบเทียบสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ หรือ สศช. เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ยังพบว่า สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปี 2552 มียอดหนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.8
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ไม่เพียงหนี้นอกระบบเท่านั้นที่ก่อปัญหาให้กับประชาชน แต่หนี้ในระบบ ซึ่งเป็นหนี้ภาคครัวเรือนที่มีปริมาณมากที่สุด ยังพบว่ามีความไม่เป็นธรรมเรื่องสัญญาเงินกู้, สัญญาจำนอง, การขายสินทรัพย์ในราคาต่ำ, การคิดดอกเบี้ยจากการชำระไม่ตรงเวลาในอัตราที่สูงกว่าสัญญา รวมถึงการคิดค่าธรรมเนียมในกรณีบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล หากผิดนัดชำระหนี้มีการคิดเบี้ยปรับและค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ที่สูงมาก
ซึ่ง ปัญหาหนี้ทั้งใน และนอกระบบ ควรมีการส่งเสริมให้ประชาชน สร้างค่านิยมการออม, ลดพฤติกรรมฟุ่มเฟือย และมีวินัยทางการเงิน เพื่อลดปัญหาหนี้สินไปพร้อมกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล