แบงก์หักดิบลดดอกเบี้ยฝากพิเศษ พาเหรดหั่นเกือบ1% ประคองส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ
แบงก์หักดิบคนรวย หั่นดอกเบี้ยฝากพิเศษยกแผงเฉียด 1% สูงกว่าดอกฝากทั่วไปที่ลดแค่น้ำจิ้ม 0.125-0.5% หวังรักษาส่วนต่างดอกเบี้ย ขณะที่สภาพคล่องสูง เหตุสินเชื่อติดหล่มเศรษฐกิจ เผยสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 84.88% ต่ำสุดรอบ 41 เดือน "ไทยพาณิชย์" ชี้หลังลดดอกเบี้ย เงินฝากวูบหายกว่า 10,000 ล้านบาท ลูกค้าโยกเงินออกลงทุนตราสารอื่น
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เหลือ 1.75% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงตาม
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมพบว่าอัตราดอกเบี้ยหน้ากระดานที่ปรับลดลงยังไม่มากนักโดยดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดระหว่าง0.10-0.5% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงระหว่าง 0.125-0.2% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษกลับปรับลดลงเกือบ 1%
"ตอนนี้สภาพคล่องในระบบแบงก์มีค่อนข้างสูง แต่สินเชื่อทั้งระบบในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้กลับเติบโตน้อยมาก ตามสภาพของเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยชัดเจน ที่ผ่านมาจึงเห็นแบงก์หักดิบหั่นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษลงค่อนข้างแรง เพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของตัวเองไว้ และถ้าสำรวจผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษของแบงก์ขนาดใหญ่ จะเห็นว่าเหลือเงินฝากประจำพิเศษในตลาดแค่แห่งละ 1-3 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น (ตามตาราง)" แหล่งข่าวกล่าว
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ ปรับเร่งตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ 21.5% ในเดือน ม.ค. 2558 สะท้อนถึงสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะการเติบโตของสินเชื่อมีอัตราที่น้อยกว่าการเติบโตด้านเงินฝาก โดยในเดือน ม.ค.นี้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 84.88% ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน ขณะที่สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 88.68%
ขณะที่ค่าเฉลี่ยของส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของแบงก์ทั้งระบบก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยในไตรมาส 3/2557 ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.38% ลดเหลือ 3.26% ในไตรมาส 4/2557 และแนวโน้มในไตรมาส 1/2558 และไตรมาส 2/2558 ก็มีโอกาสปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์ในแต่ละครั้งจะพบว่า ดอกเบี้ยเงินกู้จะสามารถปรับลดลงเห็นผลได้ทันที ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากแม้จะมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฝากแล้วก็ตาม แต่ต้องรอให้บัญชีเงินฝากประจำครบอายุ (เทอม) การฝากก่อน จึงจะสามารถใช้ดอกเบี้ยฝากที่ปรับใหม่ได้ ดังนั้นในช่วงนี้ แบงก์จึงได้รับผลกระทบทางตรงจากรายได้รับจากส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง
นอกจากนี้ยังเห็นแบงก์หลายแห่งมีการทยอยออกผลิตภัณฑ์"เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ"ในอัตราใหม่ที่จะปรับลดลงมาค่อนข้างแรงด้วย เพื่อรักษาระดับส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธินี้เอาไว้
ด้านนางพรรณพร คงยิ่งยง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส เครือข่ายสาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษลง รวมถึงไม่ต่ออายุเงินฝากพิเศษที่หมดอายุโครงการ โดยปัจจุบันธนาคารมีเงินฝากพิเศษให้เลือกเพียงระยะ 4 เดือน ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% เท่านั้น ถือเป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดปัจจุบันที่สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ ขณะที่สินเชื่อไม่ได้เติบโตในอัตราที่สูงมากนัก ทำให้ธนาคารต้องบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
"อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารที่ปรับลดลงมาส่งผลให้ลูกค้าเงินฝากของธนาคารมีการโยกย้ายเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ แทน ทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยในช่วง 2 เดือนแรกมูลค่าเงินฝากของธนาคารหายไปกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ไม่ได้ปรับลดลง
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอาจมีความแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจากธนาคารมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้การพิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจึงต้องทำอย่างรอบด้าน เพื่อให้กระสุนที่ปล่อยออกไปเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะหากปล่อยไปในจุดที่ไม่มีดีมานด์อยู่ก็อาจไม่เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้นจึงอาจจำเป็นต้องเป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะจุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝั่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ทยอยปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ล่าสุดมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.125% ต่อปี ด้านดอกเบี้ยเงินออมทรัพย์ยังคงไว้เท่าเดิม จะมีปรับเพียงดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภทที่ลดลง 0.25% ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษลดลงเหลือ 0.50-1.50% เงินฝากซุปเปอร์ออมทรัพย์พิเศษเหลือ 2.00% เงินฝากออมทรัพย์ High Saving เหลือ 2.50% และเงินฝากออมทรัพย์ Happy Home เหลือ 2.50%
ส่วนเงินฝากประจำและใบรับฝากเงินประจำปรับลดลง 0.25% และเงินฝากประจำสะสมทรัพย์ดอกเบี้ยลดลงเหลือ 1.875% (ฝากครบ 2 ปี รับดอกเบี้ยเพิ่ม 1.00% มีผล 23 มี.ค.นี้)