ดีเดย์ขึ้นค่าแรง 300 บาท

ดีเดย์ขึ้นค่าแรง 300 บาท

ดีเดย์ขึ้นค่าแรง 300 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

1 เมษายน 2555 วันแรกของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด

โดยปลัดกระทรวงแรงงานฯยืนยันว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้มีผลดีมากกว่าผลเสีย ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากจะทยอยปิดกิจการจากผลกระทบในเรื่องนี้


นายแพทย์สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเริ่มมีผลวันนี้เป็นวันแรก ว่า ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะขึ้นค่าจ้างร้อยละ 39.5 จากค่าจ้างขั้นต่ำเดิมที่ประกาศในแต่ละจังหวัด

ยกเว้น 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต ที่นำร่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน ที่จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย

เพราะขณะนี้ค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบขาดหายไป แต่หากแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น อำนาจการซื้อก็เพิ่มขึ้น การจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจะซื้อง่ายขายคล่องขึ้น เม็ดเงินทั้งหมดจะกลับมายังผู้ประกอบการในที่สุด

อย่างไรก็ตามในช่วง เปลี่ยนผ่าน ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่จะเป็นเพียงระยะสั้น หากผู้ประกอบการรายใดมีปัญหาเรื่องเงินทุน หรือไม่เข้าใจการปรับค่าจ้างในครั้งนี้

ขอรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์โปร่งใส กระทรวงแรงงาน หรือที่ สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 7 จังหวัด ที่ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทไปแล้ว

รัฐบาลจะให้ปรับขึ้นพร้อมกันในวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งจะมีการติดตามผลการปรับค่าจ้างจาก 7 จังหวัดนำร่อง และดูภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ขณะที่นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล

ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างโดยตรง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไม่สามารถอยู่ได้จนต้องเลิกกิจการ ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานในที่สุด จึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการและผู้ใช้แรง

ซึ่งในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเห็นผลกระทบชัดเจน โดยธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากจะหยุดประกอบกิจการ เพราะต้นทุนเพิ่มถึงร้อยละ 20-30 จากค่าแรงที่ปรับขึ้น

อีกทั้งมาตรการดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ร้อยละ 7 ไม่ได้ช่วยให้ได้รับผลกระทบน้อยลงเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook