กองทุนหมู่บ้านอัดสินเชื่อ4หมื่นล้าน หนุนหมู่บ้านชั้นดีรับซื้อหนี้จากสมาชิก แก้นอกระบบ
กองทุนหมู่บ้านอัดสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท สนับสนุนหมู่บ้านชั้นดีไปรับซื้อหนี้จากสมาชิกหมู่บ้าน หวังแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.)เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กทบ.)ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้พิจารณามาตรการเพื่อการสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือการให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านที่อยู่ในชั้นดี คือชั้นเอและบี จากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)แห่งละ 20,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาการขอสินเชื่อ2 ปี เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านนำไปรับซื้อหนี้จากสมาชิกในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังได้เสนออัตราดอกเบี้ยในการให้สินเชื่อครั้งนี้อยู่ที่ไม่เกิน 5 % ซึ่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะเห็นด้วยกับโครงการ แต่อัตราดอกเบี้ยที่เสนอมาไม่เกิน 5% นั้นเป็นช่วงที่กว้างเกินไป ควรกำหนดให้ชัดเจน เช่น คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% เป็นต้น และถ้าคิดเต็มอัตรา 5% ก็ไม่ได้แตกต่างจากดอกเบี้ยที่ให้สินเชื่อทั่วไปมากนัก ซึ่งเมื่อกองทุนหมู่บ้านนำไปรับซื้อหนี้นอกระบบจากสมาชิก จะทำให้สมาชิกแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอยู่ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเท่าใดนัก ดังนั้นจึงให้กระทรวงการคลังกลับไปพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับที่จะไปหารือกับธนาคารออมสิน และ(ธ.ก.ส.)ใหม่เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อไป
“นายสุวพันธุ์ และ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือนอกรอบกันก่อนหน้านี้ โดยมีความเห็นร่วมกันที่จะให้การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านที่จัดอยู่ในชั้นเกรดเอและเกรดบี ที่ถือว่าเป็นกองทุนหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง เข้ามาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านทั้งการส่งเสริมอาชีพให้เกิดการลงทุน แก้ปัญหาความเดือดร้อนเช่น ภัยแล้ง ทำให้กระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้านำเงินสินเชื่อจากธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน 40,000 ล้านบาทไปแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะช่วยชาวบ้านได้มาก และตรงกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ชาวบ้านมีปัญหาหนี้นอกระบบ สำหรับกองทุนหมู่บ้านกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในชั้นเกรดเอและบีนั้นมีประมาณ 70% ของจำนวนกองทุนหมู่บ้าน 79,000 แห่ง”นายนทีกล่าว
ขณะเดียวกันยังได้หารือกันถึงเรื่องการย้ายเงินกองทุนหมู่บ้านที่ฝากกับธนาคารออมสินและธ.ก.ส.ในช่วงแรกที่ดำเนินการ ที่ทั้ง 2 ธนาคารนี้เป็นผู้ปล่อยเงินให้กองทุนหมู่บ้าน ให้ย้ายสลับกันได้ หรือย้ายไปยังธนาคารที่ 3 ได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการติดต่อ และการกู้เงินต่อยอดโครงการของกองทุนหมูบ้าน จะได้ไปกู้กับธนาคารอื่นได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารในการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ไม่ต้องผูกขาดกับธนาคารออมสินหรือธ.ก.ส.เหมือนเดิม ซึ่งส่วนนี้ทางสทบ.ต้องไปพิจารณาร่วมกับทางธนาคารทั้งธ.ก.ส.และออมสินว่าจะมีปัญหาเรื่องการจัดการฐานข้อมูลหรือไม่
สำหรับความคืบหน้าการโอนเงินเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทระยะที่ 3 ล่าสุดได้โอนเงินเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีก 152 แห่งวงเงิน 152 ล้านบาท และโอนเงินเข้ากองทุนสำหรับชุมชุนและหมู่บ้านตั้งใหม่อีก 5 แห่ง รวม 5 ล้านบาท รวมทั้งได้พิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กับหมู่บ้าน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชนหรือเอสเอ็มแอล จำนวน 13 แห่ง วงเงินงบประมาณ 5.3ล้านบาท โดยมีหมู่บ้านและชุมชนที่ยังไม่ได้รับการโอนเงินเพิ่มทุนระยะที่ 3 แห่งละ 1 ล้านบาท เหลืออยู่อีก 19,825 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีจำนวน 3,300 แห่งที่คาดว่าน่าจะได้รับการโอนเงินเพิ่มทุนอย่างแน่นอนเมื่อได้รับการปรับปรุงข้อมูลบางส่วน
ส่วนกองทุนหมู่บ้านที่เหลืออีกประมาณ 16,000 แห่ง ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินและธ.ก.ส.ไปดูข้อมูลว่า เป็นส่วนของลูกค้าธ.ก.ส.และธนาคารออมสินจำนวนเท่าใดและให้ทำแผนประกอบด้วยว่า ถ้าจะเพิ่มทุนจะต้องให้ดำเนินการอะไรบ้าง โดยจะมีการออกแบบสำรวจร่วมกันในการแก้ไขปัญหาและในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จะออกสำรวจเป็นรายกองทุน และคาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะได้ข้อสรุป และน่าจะโอนเงินเพิ่มทุนระยะที่ 3 ได้เพิ่มอีกประมาณ 10,000 แห่งภายในไม่เกินต้นปี 2559