เคล็ดลับการประชาสัมพันธ์ สำหรับธุรกิจ Startup
ในทุกวันนี้มีแบรนด์และสินค้าต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ยิ่งถ้านับรวมแบรนด์เก่าๆ ที่มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 10 ล้านบาทเข้าไปด้วยแล้ว การที่จะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่ยอมรับ เป็นที่สนใจของบรรดาสื่อ และเป็นที่จดจำในตลาดนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน
สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การเริ่มต้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องพบกับความท้าทาย การแข่งขันกับคู่แข่งที่เข้าสู่สมรภูมิมาก่อน หรือคู่แข่งที่มาทีหลังแต่มีเม็ดเงินลงทุนที่สูงกว่า ดังนั้น การที่เราจะกลายเป็นที่รู้จักก็อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน อย่างไรก็ตาม มีกลยุทธ์ดีๆ ที่คุณสามารถใช้เพื่อไม่ให้แบรนด์ของคุณถูกมองข้ามไป และนี่คือ 6 เคล็ดลับการประชาสัมพันธ์ (PR) ที่จะช่วยให้คุณสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ไม่ยาก
1. มีความพร้อม
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเตรียมพร้อมในสถานการณ์ที่ ผลิตภัณฑ์ของคุณอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในท้องตลาด อาจไม่ได้รับการกล่าวถึง หรืออาจได้รับการเปรียบเทียบกับแบรนด์ที่ดีกว่า จนอาจทำให้คุณรู้สึกแย่และกดดันเอาได้ง่ายๆ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจในการทำธุรกิจ คุณต้องเตรียมพร้อมสำหรับแผนการประชาสัมพันธ์ในทุกๆ ด้าน
2. สร้างตัวตนของคุณ
ถามว่าเตรียมพร้อมสำหรับแผนการประชาสัมพันธ์อย่างไร ก็คือ คุณต้องสร้างตัวตนของคุณหรือของแบรนด์ขึ้นมา ฉะนั้น ก่อนจะส่งผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าสู่ตลาด คุณต้องมั่นใจว่าสามารถตอบคำถามได้ทุกคำถาม เช่น
- คุณค่าของผลิตภัณฑ์อยู่ที่ตรงไหน?
- วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร?
- สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง?
- เราทำจุดไหนที่ไม่มีใครกล้าทำหรือเปล่า?
- จุดเด่นของแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์คืออะไร?
เพราะนี่คือสิ่งสำคัญ ดังนั้นอย่าลืมกำหนดคำตอบเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อสร้างตัวตนของคุณ
3. แบ่งปันเรื่องราวของคุณ
หลังจากสร้างตัวตนขึ้นมาได้แล้ว คุณต้องถ่ายทอดเรื่องราวการทำธุรกิจ หรือบรรยายที่มาของผลิตภัณฑ์ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ ซึ่งถ้าคุณต้องการออกไปยืนโดดเด่นอยู่ท่ามกลางสายตาของเหล่านักลงทุน กลุ่มเป้าหมาย และผู้สื่อข่าว คุณต้องมีเรื่องราวที่ดีที่จะบอกได้ว่าคุณเริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาได้อย่างไร วิธีนี้นอกจากจะให้เราได้เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและคนอื่นๆ แล้ว ยังช่วยสร้างการจดจำให้กับพวกเขาได้ด้วย (ถ้า Story ของคุณดีและเจ๋งจริงๆ นะ) และอย่าลืมเอ่ยชื่อบริษัททุกครั้งที่มีการสัมภาษณ์
ส่วนการแบ่งปันเรื่องราวของคุณในโลกโซเชียลมีเดีย ต้องพยายามจำเอาไว้ว่า อย่าโพสบ่อย วันละหลายๆ ครั้ง ควรโพสเฉพาะที่จำเป็นต้องสื่อสารกับลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย และโพสเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของคุณด้วย ไม่อย่างนั้น ลูกค้าจะเบื่อที่มีแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของคุณ
4. CEO หรือผู้บริหาร เข้าถึงได้ง่าย
สำหรับ CEO หรือผู้ก่อตั้ง คือกระบอกเสียงที่มีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ของคุณ บุคคลคนนั้นจึงต้องเข้าถึงได้ง่าย เป็นกันเอง และสามารถปรากฏตัวออกสู่สาธารณชนได้บ่อย บุคลิกของเขาจึงต้องดูดี มีความคิดเชิงบวก มีความสัมพันธ์กับสื่อในเชิงบวก เพราะถ้า CEO ของคุณปากร้าย ชอบจิกกัด ใจแคบ ไม่ตรงเวลา ถามว่าบุคคลภายนอกจะมองแบรนด์คุณว่ายังไง แน่นอนว่ามองเชิงลบแน่ๆ
นอกเหนือจากการเข้าถึงได้ง่าย มีบุคลิกภาพดี และมีวิสัยทัศน์สูงแล้ว หน้าที่ที่สำคัญของ CEO ที่คุณต้องไม่มองข้ามคือ เขาต้องมีความสามารถด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้วย
5. อย่ามองข้ามโซเชียลมีเดีย
การประชาสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่า ประหยัดพร้อมกับสามารถสร้าง impact ได้ดีที่สุดในยุคนี้คงหนีไม่พ้นโซเชียลมีเดีย ดังนั้น หากคุณสามารถสร้างกลยุทธ์ทางโซเชียลมีเดียได้ดี ก็จะช่วยสร้างเอกลักษณ์และความน่าเชื่อถือในธุรกิจของคุณได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการใช้โซเชียลมีเดียก็คือ การให้เวลา มีส่วนร่วมกับผู้ติดตาม เช่น ตอบคำถาม ไขข้อข้องใจ แบ่งปันเรื่องราวดีๆ และสนทนาอย่างเป็นกันเอง อย่าปล่อยให้เพจร้าง หรือปล่อยให้เกิดคำถามคาใจ แล้วไม่มีใครไปตอบ เพราะการ “คิดไปเอง” บนโลกโซเชียลมีเดียนั้น รุนแรงและน่ากลัวมาก
6. จ้างที่ปรึกษา หรือบริษัท PR
ในกรณีที่คุณมีเงินทุนสูง และต้องการลงทุนจริงจังในระยะยาว การมองหาบริษัท PR มาช่วยเหลือก็เป็นอีก 1 ทางเลือกที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะบริษัท PR จะกลายมาเป็นที่ปรึกษาของคุณ และคุณไม่ต้องทำอะไรอย่างเสี่ยงๆ เพราะพวกเขาผ่านการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มาในระดับหนึ่ง สามารถให้คำปรึกษาคุณได้ว่าทำอะไรลงไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ การสร้างแบรนด์จึงมีโอกาสเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จสูงมากยิ่งขึ้น
เรื่อง : เจษฎา ปุรินทวรกุล
Create by smethailandclub.com