อ่วม! ต่างชาติผิดนัด"จ่ายหนี้"ระบาด ปัญหาลุกลามทั่วเอเชีย-อเมริกา-ยุโรป
เอ็กซิมแบงก์พบอัตราการผิดนัดชำระเงินและยอดเคลมค่าสินไหมทดแทนจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัวช่วง 3 เดือนแรก ปี"58 หนักสุดกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและเอสเอ็มอี แนะผู้ส่งออกทำประกันการส่งออกทุกครั้งลดความเสี่ยงสภาพคล่องทางธุรกิจ
นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศในปี 2558 ยังต้องจับตาเรื่องการชำระเงินล่าช้าและการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ อันเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจในตลาดต่างๆ ทั่วโลก แม้ว่าอัตราการล้มละลายของธุรกิจในปี 2558 คาดว่าจะลดลง แต่ปัญหาการชำระเงินล่าช้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยพบว่าไตรมาส 1/2558 ลูกค้าประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์เริ่มประสบปัญหา
ผู้ซื้อชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนรายสูงขึ้นเป็นเท่าตัว เทียบไตรมาส 1/2557 และมีการยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ รวม 9 ราย มูลค่ารวม 13.93 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากผู้ซื้อล้มละลาย 7 ราย คิดเป็นมูลค่า 10.12 ล้านบาท และผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า 2 ราย มูลค่า 3.81 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาได้แก่ ผักผลไม้สดและกระป๋อง
นายสุธนัยกล่าวว่า เอ็กซิมแบงก์พร้อมให้บริการประกันการส่งออกแก่ผู้ส่งออกไทย เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า อันเนื่องมาจากผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงิน ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า การควบคุมการโอนเงินและการห้ามนำเข้า
สินค้าโดยรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ สงคราม จลาจล และปฏิวัติ นอกจากนี้ ประกันการส่งออกยังช่วยให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันได้มากขึ้น เพราะสามารถให้เทอมการชำระเงินแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้ผ่อนปรนขึ้นกว่าผู้ส่งออกรายอื่น ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับชำระเงินตามที่ตกลงกันไว้แน่นอน โดยผู้ส่งออกไทยสามารถติดต่อทำประกันการส่งออกได้หลายรูปแบบ รวมทั้งรับเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นสำหรับผู้ส่งออกเอสเอ็มอีหรือบริการสินเชื่อพร้อมประกันการส่งออกที่เรียกว่า สินเชื่อเอสเอ็มอี ส่งออกสบายใจ ซึ่งให้วงเงินอนุมัติสูงสุดถึง 6 เท่าของหลักประกัน
"ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจของตลาดโลก ทำให้ผู้ส่งออกไทยมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินจากการค้าขายตามปกติ ผู้ส่งออกไทยจึงควรทำประกันการส่งออกทุกครั้งที่ส่งออก โดยให้ธนาคารเข้ามาทำหน้าที่รับความเสี่ยง และผู้ประกอบการไทยมุ่งทุ่มเทเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดกับผู้ซื้อรายเดิมและผู้ซื้อรายใหม่" นายสุธนัยกล่าว