บริจาคช่วยเนปาล ได้ลดหย่อนภาษี ทุกช่องทาง ท้ายสุดต้องรวมบริจาคผ่านรัฐเท่านั้น!

บริจาคช่วยเนปาล ได้ลดหย่อนภาษี ทุกช่องทาง ท้ายสุดต้องรวมบริจาคผ่านรัฐเท่านั้น!

บริจาคช่วยเนปาล ได้ลดหย่อนภาษี ทุกช่องทาง ท้ายสุดต้องรวมบริจาคผ่านรัฐเท่านั้น!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมสรรพากรระบุ การบริจาคช่วยแผ่นดินไหวเนปาล ลดหย่อนภาษีได้ ในทุกช่องทาง แต่สุดท้ายต้องบริจาครวมให้กับหน่วยงานรัฐเท่านั้น

กรมสรรพากรระบุว่า ตามที่ได้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล ทำให้ประชาชนชาวเนปาลได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทยมีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว โดยมีการเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อรวบรวมส่งไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนชาวเนปาล นั้น

การบริจาคช่วยเหลือในกรณีดังกล่าว ผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค ไปหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1.ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้เฉพาะการบริจาคเป็นเงิน ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยงานราชการที่เปิดรับบริจาคเป็นการเฉพาะ เช่น บัญชี “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล”ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมายเลขบัญชี 067-0-10330-6 เป็นต้น

หรือผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เช่น สถานีโทรทัศน์ หรือมูลนิธิของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ผู้บริจาคสามารถนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนในการ คำนวณภาษีได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่นๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว โดยใช้หนังสือสำคัญการรับเงินบริจาคที่ส่วนราชการ หรือนิติบุคคลที่เป็นตัวแทน รับบริจาคออกให้ หรือใบโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือสลิปของธนาคาร เพื่อเป็นหลักฐานในการนำไปหักลดหย่อนต่อไป

2.ผู้บริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิในปีที่บริจาค นอกจากนี้ กรณีการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าดังกล่าว ถือเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินตามข้อ 1 และข้อ 2 ต้องนำเงินและทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาทั้งจำนวนนั้น ไปบริจาคให้แก่หน่วยงานของส่วนราชการไทยเท่านั้น เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และหน่วยงานราชการนั้นจะต้องออกหนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการบริจาคโดยมียอดเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นยอดรวมทั้งสิ้นตรงกับยอดที่รับบริจาคมาทั้งจำนวนกรณีนี้ ผู้บริจาคตามข้อ 1และข้อ 2 จึงจะได้รับสิทธินำยอดเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้

แต่หากตัวแทนรับบริจาคนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยโดยตรง ผู้บริจาคจะไม่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook