"ที่ดินจำนอง" 30ล.ไร่เสี่ยงหลุดมือชาวนา หนี้ท่วม-ราคาพืชร่วง-นายทุนแห่กว้านซื้อรับเมกะโปรเจ็กต์

"ที่ดินจำนอง" 30ล.ไร่เสี่ยงหลุดมือชาวนา หนี้ท่วม-ราคาพืชร่วง-นายทุนแห่กว้านซื้อรับเมกะโปรเจ็กต์

"ที่ดินจำนอง" 30ล.ไร่เสี่ยงหลุดมือชาวนา หนี้ท่วม-ราคาพืชร่วง-นายทุนแห่กว้านซื้อรับเมกะโปรเจ็กต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสี่ยงสุด ๆ ที่ดินเกษตรกรติดจำนอง-ขายฝาก 30 ล้านไร่ จ่อหลุดมือไปเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบ สถาบันการเงินรัฐและเอกชน ผลวิจัยกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนระบุแนวโน้มการสูญเสียที่ดินของชาวนารุนแรงขึ้น เหตุเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งหนี้สินท่วม ค่าใช้จ่ายพุ่ง ราคาพืชผลตกต่ำ ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน มอเตอร์เวย์หนุนนายทุนแห่กว้านซื้อที่ดินอีกระลอก


นางสาวสมจิต คงทน หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันปัญหาที่ดินหลุดมือชาวนายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะในปัจจุบันเกษตรกรยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้จากการทำนา ราคาพืชผลการเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะตกต่ำ รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้งที่ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลดี จึงมีแนวโน้มว่าในอนาคต สถานการณ์ดังกล่าวก็จะยังไม่ดีขึ้น

ชาวนาเปลี่ยนฐานะเป็นผู้เช่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินและความยากจนของเกษตรกรมาหลายยุคหลายสมัยแต่เห็นได้ชัดว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่และค่อยๆบ่อนทำลายกระดูกสันหลังของชาติไปทีละน้อยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้น้ำหนักและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

จากรายงานการวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน เกี่ยวกับการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร พบว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502-2518 เป็นต้นมา มีเกษตรกรที่สูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื่องจากการจำนองรวมกว่า 260,000 ไร่ หรือเฉลี่ยปีละ 16,250 ไร่

โดยระหว่างปี พ.ศ. 2510-2516 ชาวนาต้องสูญเสียที่ดินไปกว่า 92,410 ไร่ หรือเฉลี่ยสูญเสียปีละประมาณ 13,200 ไร่

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ในปี 2554 เกษตรกรไทยต้องเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรกว่า 30.5 ล้านไร่หรือประมาณ 45% จากพื้นที่ทางการเกษตรของไทยทั้งหมดกว่า 149 ล้านไร่ โดยพื้นที่ที่มีการเช่าที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรรมมากที่สุดคือ ภาคกลาง ซึ่งมีมากกว่า 10 จังหวัดที่มีอัตราการเช่าที่ดินมากกว่าร้อยละ 40 อีกทั้งกว่า 41% ของครัวเรือนเกษตรกรในภูมิภาคนี้ยังเช่าที่ดินแบบไม่ทำสัญญาด้วย


ที่ดินติดจำนอง/ขายฝาก 30 ล.ไร่

ล่าสุดในปี 2557 พบว่าพื้นที่การเกษตรกว่า 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีที่ดินที่เป็นของเกษตรกร 71.59 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นที่ดินที่กำลังติดจำนองหรือขายฝากมากถึง 30 ล้านไร่ และมีความเสี่ยงจะหลุดมือจากเกษตรกรไปเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบ หรือสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน หากไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้

ขณะที่นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ได้เปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกษตกรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินนั้นมาจากปัญหาหนี้ทั้งนอกและในระบบและอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้เกษตรกรถูกฟ้องล้มละลายหรือขายที่ดินทอดตลาดรวมทั้งการถูกนายทุนกว้านซื้อที่ดิน

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวนามีการเช่าที่ดินมากที่สุดถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่กว่า 1.14 ล้านไร่ ในปี 2553 ซึ่งพบว่ามีเกษตรกรที่เช่าที่ดินทำกินกว่า 8 แสนไร่และในปี 2555 เกษตรกรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากว่า 85% ก็ยังคงเช่าที่นาทำเกษตรกรรมอยู่

หลุดมือ - ที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตในการประกอบอาชีพที่สำคัญที่สุดของเกษตรกร แต่ปัจจุบันเกษรกรไทยจำนวนมากยังต้องเช่าที่นา รวมทั้งประสบปัญหาการสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินมากขึ้น โดยในปี 2557 พบว่ามีที่ดินถึงกว่า 30 ล้านไร่ ที่เกษตรกรนำไปจำนองและขายฝากไว้กับสถาบันการเงิน

เมกะโปรเจ็กต์เอื้อที่ดินหลุดมือ

ในงานวิจัยยังได้ระบุถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ที่ดินหลุดมือจากชาวนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากขึ้นคือโครงการเมกะโปรเจ็กต์จากรัฐบาลที่พาดผ่านเมืองอยุธยาเช่นรถไฟทางคู่รถไฟความเร็วสูงมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินในจังหวัดจากนายทุนมากขึ้น รวมทั้งยังมีการกดดันจากเหล่านายหน้าให้ยอมขายที่ดิน ด้วยการซื้อที่ดินปิดทางเข้า-ออก เพื่อให้เป็นที่ดินตาบอดด้วย

นอกจากนี้อีกสาเหตุหลักทำให้ที่ดินหลุดมือชาวนา คือ การที่เกษตรกรนำที่ดินที่มีอยู่ไปจำนองกับนายทุน หรือสถาบันการเงินรัฐและเอกชนเพื่อนำมาลงทุนทำนา แต่เมื่อผลผลิตขาดทุนและมีหนี้สิน ทำให้ต้องขายที่ดินเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ หรือขายที่ดินเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งการถูกยึดที่นาจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดด้วย

เช่นเดียวกับกรณีของจังหวัดชัยนาทที่มีพื้นที่การเกษตรประมาณ1.22ล้านไร่หรือคิดเป็นร้อยละ80ของทั้งจังหวัด มีประชากรในจังหวัดที่ทำการเกษตรประมาณร้อยละ 45 โดยในปี 2549 พบว่าชัยนาทมีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ยของครัวเรือนภาคเกษตรประมาณ 34.88 ไร่ต่อครัวเรือน ขณะที่การถือครองที่ดินขนาดใหญ่เกิน 100 ไร่ขึ้นไปนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ในกำมือของนักการเมืองนักธุรกิจ นายทุนเงินกู้ รวมแล้วกว่า 5,600 ไร่

ขณะเดียวกันสัดส่วนของครัวเรือนที่สูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินและที่ทำกินในจังหวัดก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นโดยในปี2557จังหวัดชัยนาทมีการลงทะเบียนเกี่ยวกับปัญหาที่ดินมากเป็นอันดับ2ประมาณ 20,082 ราย และจากข้อมูลของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดชัยนาท ปีงบประมาณ 2556-57 ยังพบว่ามีการใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันถึงกว่า 7,200 ไร่

ส่วนกรณีในจังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508-2554 มีเกษตรกรจำนวน 10 รายที่สูญเสียที่นาและที่สวนตั้งแต่ 2-20 ไร่ เฉลี่ยแล้วเกษตรกรสูญเสียที่ดิน 7.9 ไร่ต่อราย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการนำที่ดินไปจำนองกับนายทุนทั้งในและต่างจังหวัด เพื่อนำมาลงทุนกับการทำเกษตรกรรมที่ขาดทุนไป ไม่มีเงินมาชำระหนี้ หรือขายเพื่อปลดหนี้ รวมทั้งถูกนายทุนนอกระบบยึดที่นาเพื่อใช้แทนหนี้อีกด้วย

ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยเปิดเผยถึงเส้นทางการการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรว่า เริ่มมาจากการนำที่ดินมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ และระยะที่สอง คือการผ่อนชำระหนี้ของเกษตรกรที่ผูกพันกับที่ดินที่ถูกจำนองเอาไว้ และระยะที่สาม คือเกษตรกรถูกศาลฟ้องและถูกบังคับคดีให้ขายที่ดินทอดตลาดจนสูญเสียที่ดิน เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้

ดังนั้น ตราบใดที่กระบวนการกู้ยืมแต่เริ่มแรกผูกติดอยู่กับการค้ำประกันหลักทรัพย์ในที่ดิน โอกาสที่เกษตรกรจะสูญเสียที่ดินซึ่งป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญที่สุดก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีมาตรการพักชำระหนี้และกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ก็เป็นเพียงการยืดเวลาการชำระหนี้ แต่ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรชำระหนี้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook