หั่นวงเงิน"กดเงินสด"บัตรเครดิต แบงก์เช็กข้อมูลยิบสกัดหนี้เสียพุ่ง

หั่นวงเงิน"กดเงินสด"บัตรเครดิต แบงก์เช็กข้อมูลยิบสกัดหนี้เสียพุ่ง

หั่นวงเงิน"กดเงินสด"บัตรเครดิต แบงก์เช็กข้อมูลยิบสกัดหนี้เสียพุ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์-น็อน แบงก์ดอด "หั่นวงเงิน" กดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยเฉพาะลูกค้าที่มีปัญหาจ่ายหนี้ช้า-แถมกู้หนี้เพิ่ม ป้องกันใช้จ่ายเกินตัว สกัดปัญหา"หนี้เสีย" กรุงศรีฯชี้ยอดลูกค้ากดเงินสดเพิ่มขึ้น 20% คุมเข้มเช็กข้อมูลเครดิตลูกค้ายิบทุกไตรมาส"เครดิตบูโร" เผยไตรมาสแรก"บัตรเครดิต" ที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.2 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 1%หั่นวงเงิน

แบงก์หั่นวงเงิน "รูดปรื๊ด"

นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างติดตามพฤติกรรมการใช้บริการกดเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต (Cash Advance) ของลูกค้าอย่างใกล้ชิด จากเดิมธนาคารจะอนุมัติวงเงินสำหรับการกดเงินสดให้ลูกค้า 100% ตามวงเงินบัตรเครดิตที่ได้รับ แต่หากพบพฤติกรรมการชำระหนี้ล่าช้าอยู่เสมอ และมีการก่อหนี้จากสถาบันการเงินอื่นเพิ่มเติม ธนาคารก็จะปรับลดวงเงินการเบิกเงินสดลง แต่จะลดลงเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของลูกค้าหรือบางรายที่ขอเพิ่มวงเงินบัตรเข้ามา ถ้าพบว่าลูกค้ามีภาระหนี้เยอะขึ้น แม้จะมีรายได้สูงขึ้นด้วย แต่ก็จะเพิ่มวงเงินให้ในสัดส่วนน้อยลง หรือบางรายก็ไม่ให้เพิ่มวงเงิน

"ถือเป็นการเพิ่มความระมัดระวังมาก ขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก และตอนนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็รุนแรงมาก ส่วนลูกค้าใหม่เราก็เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ฐานลูกค้าใหม่ค่อนข้างดูดี แต่ต้องจับตา 3-4 ปีหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร"

ชี้เอ็นพีแอลบัตรเคดิต 1.4%

นายทวี กล่าวยอมรับว่า ยอดการชำระหนี้ล่าช้าของลูกค้าปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สะท้อนได้ตามปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงจนน่าเป็นกังวลมากนัก โดยปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 1.4% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือถ้าแบงก์จำกัดวงเงินการกดเงินสดของลูกค้า อาจทำให้ลูกค้าที่ชอร์ตเงินอย่างรุนแรง อาจใช้วิธีนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อทองคำ แล้วนำไปขายต่อเพื่อนำเงินมาหมุน เพราะนั่นจะเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะพบในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ

ปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้าที่ใช้บริการกดเงินสดจากบัตรเครดิต เฉลี่ยประมาณ 100,000 รายต่อเดือน จากจำนวนบัตรเครดิตทั้งหมด 3.51 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าการกดเงินสดต่อเดือนรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 11,000 บาทต่อคนต่อเดือน จากพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างทั้งหมดประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

กรุงศรีฯลูกค้ากดเงินสดพุ่ง 20%

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า การอนุมัติวงเงิน Cash Advance ให้ลูกค้าของบริษัทจะขึ้นอยู่กับรายได้และพฤติกรรมในการชำระหนี้ของลูกค้าใน ช่วงก่อนหน้า โดยบริษัทจะตรวจเช็กจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร

หากรายได้สูง มีพฤติกรรมชำระดี จ่ายเต็มวงเงิน และไม่มีหนี้ในระดับสูงเกินไป บริษัทจะให้วงเงินสูงสุด 100% ของวงเงินบัตรเครดิตที่ได้รับ แต่หากมีประวัติชำระล่าช้าอยู่เสมอ มีชำระขั้นต่ำมากกว่าชำระเต็ม แต่ไม่ได้เป็นหนี้เสีย ก็จะปรับลดวงเงินเหลือ 50% และ 30% ตามลำดับ รวมถึงจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเครดิตของลูกค้าเพื่อทบทวนวงเงินทุกไตรมาส ซึ่งกลุ่มที่ให้วงเงิน 100% ของบริษัทมีไม่ถึง 50%

เผยยอดกดเงินสดโต 20%

ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าที่กดเงินสดผ่านบัตรเครดิตประมาณ 5-6% จากพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างของบริษัท ซึ่งอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท ยอมรับว่ายอดกดเงินสดเติบโตเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปีก่อนหน้าการเบิกจ่ายเงินสดอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เพราะทุกคนระมัดระวังการใช้จ่ายเนื่องจากกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ

"ที่ผ่านมาสัดส่วนการกดเงินสดของลูกค้าถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าที่ถูกปรับลดวงเงินมีอยู่ประมาณ 10% เท่านั้น สาเหตุจากลูกค้าใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าและบริการอยู่ในระดับที่สูงมาก แล้ว บางรายก็มีภาระหนี้กับแบงก์อื่นมากขึ้น ทำให้เราต้องระมัดระวังและปรับลดวงเงินกดเงินสดลง เพราะต้องป้องกันไว้ก่อน และเราก็ไม่อยากให้ลูกค้าบัตรเครดิตกดเงินสดจากบัตรมากนัก เพราะหากต้องการกดเงินสดควรขอสินเชื่อบุคคลดีกว่า"

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมปริมาณเอ็นพีแอลของบริษัท ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล อยู่ในระดับที่ค่อนข้างนิ่ง หรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 1.2-1.3% เท่านั้น ขณะที่สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ระดับ 3.35%

เช่นเดียวกับปริมาณการชำระหนี้ล่าช้าที่ปรับตัวลดลง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นมา 3-4 เดือนแล้ว เป็นผลจากที่บริษัทเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการติดตามทวงหนี้ ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อบุคคลที่ระดับ 7% ในไตรมาสแรกเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นกังวลแล้ว

กรุงไทยไม่ปรับลดกดเงินสด

ด้านนางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 1/2558 ของบริษัทเติบโตขึ้น 11% ขณะที่ยอดกดเงินสดล่วงหน้าเติบโตในระดับใกล้เคียงกัน โดยสัดส่วนลูกค้าที่เบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรของบริษัทมีอยู่ประมาณ 15% ของฐานบัตรรวม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และบริษัทไม่ได้มีการปรับลดวงเงินการกดเงินสดของลูกค้า เนื่องจากมองว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่อัตราชำระหนี้ล่าช้าก็ปรับตัวดีขึ้น

จากข้อมูลในช่วงเดือน ก.พ. 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การกดเงินสดลูกค้าบัตรเครดิตอยู่ที่ 15,099.80 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 14,499.89 ล้านบาท

ขณะที่ยอดการกดเงินสดปี 2557 อยู่ที่ 175,553.54 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.86% จากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 174,055.16 ล้านบาท

เครดิตบูโรจับตา NPL 4.2 ล.บัญชี

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า ในเดือนมีนาคม 2558 มีฐานข้อมูลบัญชีสินเชื่อบุคคลธรรมดาทั้งหมด 48.76 ล้านบัญชี เติบโตขึ้นจากปลายปี 2557 เพียง 1% โดยเป็นบัญชีที่ไม่ค้างชำระถึง 38.7 ล้านบัญชี เติบโตขึ้นจากปลายปี 2557 ประมาณ 0.5%

ขณะที่จำนวนบัญชี ที่ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน (ชำระหนี้ล่าช้า) มีจำนวน 1.22 ล้านบัญชี เติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 1% และจำนวนบัญชีที่ค้างชำระตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป (เอ็นพีแอล) มีทั้งสิ้น 4.2 ล้านบัญชี เติบโตเพียง 1% จากปลายปีก่อน สะท้อนการบริหารจัดการที่ดี ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ต้องกำกับดูแลใกล้ชิดคือ สินเชื่อส่วนบุคคล, บัตรกดเงินสด ตามมาด้วยสินเชื่อรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบ้านไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวลในระยะนี้ เนื่องจากสถาบันการเงินมุ่งไปทำตลาดในกลุ่มลูกค้ารายได้ต่อเดือนสูงขึ้น ระดับ 50,000 บาทขึ้นไป

"หนี้ใหม่สถาบันการเงินต่าง ๆ ควบคุมได้ค่อนข้างดี แต่ที่บอกว่ากลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าบัตรกดเงินสดต้องดูแลอย่างใกล้ชิดก็ เพราะเป็นห่วงลูกค้าเก่าที่ปล่อยไปแล้ว ที่รายได้ไม่สูงมากนักจะทำอย่างไร ส่วนลูกค้าบัตรเครดิตไม่น่าห่วง ส่วนหนึ่งเพราะมีการควบคุมดูแลในตัวเองอยู่แล้ว เช่น ถ้าไม่จ่ายขั้นต่ำก็ระงับการใช้บัตรได้ ความเสียหายจึงไม่มาก หรือหลายแห่งก็ไม่ยอมให้กดเงินสดมากเกินไป"

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา การเรียกดูข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อใหม่ปรับตัวลดลง 10% ตามการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น โดยในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 3.09 ล้านรายการ หรือเฉลี่ย 1 ล้านรายการต่อเดือน ขณะที่ปีที่แล้วเฉลี่ย 1.1 ล้านรายการต่อเดือน และแนวโน้มปีนี้เชื่อว่าก็น่าจะทรงตัวในระดับดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook