จุดพลุจ้างงาน4แสนคน รัฐลุยประมูล3ล้านล."วัสดุ-รับเหมา"คึก

จุดพลุจ้างงาน4แสนคน รัฐลุยประมูล3ล้านล."วัสดุ-รับเหมา"คึก

จุดพลุจ้างงาน4แสนคน รัฐลุยประมูล3ล้านล."วัสดุ-รับเหมา"คึก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ประจิน" ลั่นได้ฤกษ์เปิดประมูลเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าทางคู่ไฮสปีดเทรน มอเตอร์เวย์ สนามบิน 3 ล้านล้านบาท เดือน พ.ค.นี้ ปลุก ศก.ขับเคลื่อนทุกมิติ วัสดุก่อสร้าง-แรงงานรับข่าวดี ชี้ต้องการจ้าง 4 แสนตำแหน่ง วิศวกร-ช่างเทคนิค-แรงงานระดับล่าง รับเหมาขานรับตีปีกเตรียมรับเค้ก

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 ระยะเวลา 8 ปี ซึ่งจะมีการลงทุนครอบคลุมทั้งระบบถนน ราง น้ำ และอากาศ วงเงินลงทุนกว่า 3 ล้านล้านบาท แยกเป็นโครงการตามแผนงานยุทธศาสตร์กว่า 1.91 ล้านล้านบาท และการลงทุนของรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น จำนวน 3 เส้นทาง ซึ่งเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกกว่า 1.1 ล้านล้านบาท จะเริ่มเปิดประมูลก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป จะเห็นผลด้านบวกต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทันทีหลังจากเซ็นสัญญา เนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนจะเข้าประมูลงาน

กระตุ้นเศรษฐกิจทุกมิติ

"เมกะโปรเจ็กต์จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทุกมิติ กระจายไปสู่ภูมิภาค ชุมชน และอุตสาหกรรมครัวเรือน เพราะมีการสร้างงาน ซื้อขายวัสดุก่อสร้าง จะทำให้การลงทุนต่าง ๆ ดีขึ้น เพราะโครงการก่อสร้างแต่ละโครงการผู้รับเหมาหลักจะซับงานให้กับรับเหมาท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายงานและจ้างงานในท้องถิ่น จะไม่เกิดความเสี่ยงเรื่องแรงงาน เพราะกระจายงานไปทุกพื้นที่ อีกทั้งเกิดการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องตามมา เช่น ศูนย์ขนส่งสินค้า การพัฒนาเมืองและชุมชน"

สำหรับการประเมินความต้องการด้านแรงงานนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า อยู่ระหว่างประเมินรายละเอียดภาพรวมทั้งหมด แต่ละโครงการจะมีการใช้วัสดุก่อสร้าง 30-40% ค่าจ้างที่ปรึกษาประมาณ 3-5% ในส่วนของการจ้างงานมีส่วนของผู้บริหาร วิศวกร และเจ้าหน้าที่ประสานงาน 25-30% ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 30% และแรงงานก่อสร้าง 30%

"ที่กระทรวงแรงงานประเมินไว้คร่าว ๆ ใน 8 ปีจะมีการจ้างแรงงานประมาณ 4 แสนคน คาดว่าน่าจะใกล้เคียงหรืออาจจะมากกว่านั้น เนื่องจากยังมีโครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และรถไฟความเร็วสูงเพิ่มอีก"

ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานขาดแคลนไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากงานมีการกระจายงานทุกพื้นที่ และมีบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเข้ามาร่วมก่อสร้างด้วยอยู่แล้ว จะสามารถหาแรงงานในพื้นที่ที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมมาก่อสร้างงานได้

ส่วนแรงงานฝีมือต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถพิเศษ ทางบริษัทรับเหมาต้องมีประจำการอยู่แล้ว หรือหากไม่มีก็ต้องเตรียมการจัดหา เช่น จากผู้ร่วมทุน จ้างเอาต์ซอร์ซ ซึ่งระดับนี้จะไม่ขาดแคลนเช่นเดียวกัน

"สำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รัฐบาลคงยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นเพราะการจ้างงานแต่ละประเภทมีการจ้างในอัตราที่เกิน 300 บาทอยู่แล้ว เช่น แรงงานฝีมือ" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

8 ปี จ้างงานกว่า 4.3 แสนคน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ล่าสุด ทางกระทรวงแรงงานได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณความต้องการกำลังคน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 8 ปี วงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาทของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 436,960 คน แยกเป็นวิศวกร 17,811 คน ช่างเทคนิคและโฟร์แมน 30,872 คน และคนงานก่อสร้าง 388,277 คน เพื่อป้อนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ทางคู่ มอเตอร์เวย์ ก่อสร้างถนน สนามบิน ท่าเรือและระบบป้องกันตลิ่งพัง

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานยังได้คาดการณ์กำลังคนสำหรับการให้บริการภายหลังจากที่งานก่อสร้างแล้วเสร็จและในระยะยาวหลังจากเปิดใช้บริการไปแล้ว ยังมีความต้องการกำลังคนอีกจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะส่วนของระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 10 สายทาง ระยะทาง 464 กิโลเมตร มีความต้องการกำลังคนสำหรับตำแหน่งงานที่มีความสำคัญต่อการให้บริการประมาณ 11,700 คน แยกเป็นพนักงานปฏิบัติการในสถานี 7,000 คน คนขับรถไฟฟ้าประมาณ 1,500 คน วิศวกรบำรุงรักษา 900 คน และช่างเทคนิค 2,300 คน

ผลิต 2.5 หมื่นคนป้อนระบบราง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนระบบรางเข้าไปอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่าง ๆ รวมถึงเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านระบบราง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางมาตรฐาน ดาดว่าจะมีความต้องการอยู่ 2.5 หมื่นคน แยกเป็นวิศวกร 4,500 คน ช่างเทคนิค 9,100 คน และอื่น ๆ อีกกว่า 1 หมื่นคน

ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลัก 9 แห่งเร่งพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับการผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาปี 2559-2561 จะมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาด้านอุตสาหกรรมและวิศวกรรม ระดับอาชีวะ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกรวม 117,512 คน แยกเป็นปี 2559 จำนวน 39,516 คน ปี 2560 จำนวน 41,212 คน และปี 2561 จำนวน 36,784 คน จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อรองรับกับโครงการลงทุนจะเกิดขึ้นอีกมาก

3 บิ๊กรับเหมาเตรียมคนพร้อม

ด้านความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมเรื่องแรงงานก่อสร้างไว้ล่วงหน้านานแล้ว ปัจจุบันมีแรงงานเป็นคนไทยประมาณ1 หมื่นคน และมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับโควตาจากกระทรวงแรงงานไว้ 8 พันคน ขณะนี้นำมาใช้อยู่ที่ประมาณ 4 พันคน คาดว่ายังเพียงพอที่จะรองรับงานก่อสร้างโครงการใหญ่ที่รัฐบาลจะเปิดประมูลได้แน่นอน

"ปีนี้จะโยกคนจากไซต์ก่อสร้างสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ที่เสร็จแล้วมายังไซต์รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่บริษัทได้งานก่อสร้างด้วย จะช่วยให้แรงงานไม่ตึงมาก"

ช.การช่างเตรียมพร้อมรับมือ

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ช.การช่าง เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งคนและเครื่องไว้พร้อมเข้าประมูลงานของรัฐบาลนานแล้ว และเกาะติดข่าวคราวความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด รอแค่ให้รัฐบาลเดินหน้าประมูลโครงการในส่วนงานก่อสร้างได้เตรียมเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคการก่อสร้างเป็นหลักทั้งการเตรียมการเรื่องเครื่องจักรกลและวัสดุก่อสร้าง ส่วนเรื่องแรงงานคิดว่ามีพอรองรับงานที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับงานโครงสร้างพื้นฐานในภาครัฐได้ให้ทางทีมงานก่อสร้างเป็นผู้จัดเตรียมแรงงาน โดยการจัดหาคนเข้ามาทำงาน คาดว่าแรงงานจะมารับงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นคนในประเทศ

ขณะที่นายประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย กรรมการ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทพร้อมประมูลงานใหญ่ทั้งคนและเครื่องจักรที่จะใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรไว้แล้วหลังได้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) อีกทั้งได้ลงทุนซื้อที่ดิน 1,800 ไร่ ที่ จ.สระบุรี ใกล้สถานีรถไฟ สร้างโรงงานหล่อชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่จะมาใช้ในการก่อสร้างงานโครงสร้าง พร้อมทั้งซื้อหัวรถจักรจากจีน 2 คัน และรถลาก 120 คัน เพื่อลากจูงชิ้นส่วนนี้มาที่สถานีบางซื่อซึ่งเป็นไซต์ก่อสร้างสายสีแดง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook