"สปส." เตรียมเงิน 2 พันล้าน คืนผู้ประกันตนมาตรา 40
สำนักงานประกันสังคม-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคาะผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิประโยชน์รับเงินชราภาพ ต้องลาออกจาก สปส.หรือโอนไปกองทุนการออมฯทั้งหมด เตรียมสองพันล้านบาทคืนผู้ประกันตน
นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษก สปส.กล่าวถึงความคืบหน้าการโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่าจากการหารือกันระหว่างคณะทำงาน สปส.และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง มีข้อสรุปร่วมกันว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิประโยชน์รับเงินชราภาพจะต้องลาออกจาก สปส.หรือโอนไป กอช.ทั้งหมด เนื่องจาก สปส.จะไม่ดูแลในส่วนของเงินกรณีชราภาพ
ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ นั้นยังคงดูแลต่อไป ซึ่งมี 3 ทางเลือกที่ดูแลกรณีชราภาพคือ ทางเลือกที่ 3 กรณีชราภาพอย่างเดียว ทางเลือกที่ 4 และ 5 ที่มีสิทธิชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพและเสียชีวิต ซึ่ง สปส.จะคืนเงินในส่วนที่สมทบกรณีชราภาพให้กับผู้ประกันตนทั้งหมดพร้อมเงินสมทบจากรัฐบาล ซึ่งมีผู้ประกันตนทางเลือกชราภาพกว่า 350,000 คน คาดว่าจะต้องจ่ายเงินคืนผู้ประกันตนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตน 1,000 พันล้านบาท
นายโกวิทกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 ไป กอช.หรือให้ลาออก และรับเงินคืนแต่อย่างใด เพราะต้องรอให้ ร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกันสังคมมาตรา 40 พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ก่อน โดยขณะนี้ร่างทั้งสองคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น ได้เขียนบทเฉพาะกาลให้สามารถรับโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพจาก สปส.ได้ หากร่างดังกล่าวผ่าน สนช.ก็คาดว่าน่าจะเปิดรับโอนและสมัครสมาชิกได้ในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้ สำหรับประกันสังคมมาตรา 40 มี 5 ทางเลือกคือ
ทางเลือกที่ 1 จ่ายสมทบเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาทและรัฐสมทบ 30 บาท ได้สิทธิประโยชน์ เงินชดเชยขาดรายได้กรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
ทางเลือกที่ 2 จ่ายสมทบเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาทได้สิทธิประโยชน์เงินชดเชยขาดรายได้กรณีเจ็บปวย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และบำเหน็จชราภาพ
ทางเลือกที่ 3 จ่ายสมทบเดือนละ 200 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐบาลสมทบ 100 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพ
ทางเลือกที่ 4 จ่ายสมทบเดือนละ 300 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 170 บาท รัฐสมทบ 130 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์เงินชดเชย ขาดรายได้กรณีเจ็บปวย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และบำนาญชราภาพ
ทางเลือกที่ 5 จ่ายสมทบเดือนละ 350 บาท ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 200 บาท รัฐ สมทบ 150 บาท ได้สิทธิประโยชน์ทุกกรณี