ตลาดจักรยานแพงแข่งเดือด "โปรไบค์" โฟกัสแบรนด์หลัก
"โปรไบค์" เดินหน้าเสริมแกร่งการบริการรับเทรนด์ตลาด ระดมกลยุทธ์ซีอาร์เอ็มจัดทริปจักรยานรอบปี พร้อมปรับลดแบรนด์สินค้ากระชับบริการหลังการขาย ตั้งเป้าปี"58 โตเกิน 15%
นายนที ชัยสินธพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรไบค์ จำกัด เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมตลาดจักรยานไทย ปัจจุบันยังมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาในตลาด ซึ่งกำลังเติบโตจนปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีร้านจักรยานมากกว่า 200 ร้าน ซึ่งมีปัจจัยบวกจากกระแสความนิยมการขี่จักรยานที่มีมากขึ้น การให้สินเชื่อเงินผ่อนของสถาบันการเงิน รวมถึงกิจกรรมขี่จักรยานเชิงท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้น คาดว่าปีนี้จะเติบโต 20% จากปีก่อนที่เติบโต 15%
ปัจจุบันการแข่งขันส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องบริการหลังการขาย ไม่เน้นเรื่องราคา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นรายเล็กที่ไม่มีทุนหรือแผนบริการก่อน-หลังการขายเสียเปรียบ
นายนทีกล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำตลาดของโปรไบค์ จากนี้ไปจะยังคงเน้นการรักษาฐานลูกค้าเป็นหลัก ด้วยกลยุทธ์ซีอาร์เอ็ม ทั้งบริการก่อนและหลังการขาย โดยเฉพาะการจัดอีเวนต์ทริปปั่นจักรยานท่องเที่ยว ที่บริษัทจัดเฉลี่ย 12-14 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วม 180-500 คนต่อครั้ง เพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าและผู้ขี่จักรยานทั่วไป พร้อมกับสื่อสารให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์รับกับพฤติกรรมเลือกซื้อจักรยานทั้งคันแรกและคันที่2 รวมทั้งโปรโมชั่นที่เน้นการแถมอุปกรณ์เสริม เช่น หมวกกันน็อก ส่วนผู้แทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ที่มีอยู่ 65 ราย จะเน้นการให้การสนับสนุนการตกแต่งร้านและการฝึกอบรมพนักงาน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะลดจำนวนแบรนด์จักรยานที่นำเข้ามาทำตลาดลงจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ง่ายต่อการบริการหลังการขาย โดย 2 ปีที่ผ่านมาได้ลดไปแล้ว 10 แบรนด์ ปัจจุบันมีจักรยาน 2 แบรนด์ คือ เทรค (TREK) และเทิร์น (Tern) ที่เหลืออีก 15 แบรนด์เป็นอะไหล่และอุปกรณ์เสริม เช่น ชิมาโน่ (Shimano) บอนทราเจอร์(Bontrager) โปร (Pro) และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับราคาจักรยานขึ้น 10-15% เช่นเดียวกับตลาดรวม ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทและเยนที่อ่อนตัว รวมถึงต้นทุนการผลิตของโรงงานและการนำเข้าสูงขึ้นตาม โดยปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายมากกว่า 15% หลังจากที่ผ่านมาบริษัทเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ เช่น ชุดเกียร์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งความนิยมจักรยานพับของกลุ่มลูกค้าในเขตเมืองที่จะช่วยกระตุ้นยอดจักรยานแบรนด์ เทิร์น ที่ทำตลาดอยู่เดิม
นอกจากตลาดในประเทศ บริษัทยังได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของแบรนด์ เทรค ในการให้เข้าช่วยพัฒนาดีลเลอร์ให้กับเทรค ในตลาดเอเชียในหลายประเทศ เช่น เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ภูฏาน และเนปาล ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะเวียดนามที่มีวัฒนธรรมการเดินทางด้วยพาหนะสองล้อเป็นหลัก และการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว รวมถึงเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในเมียนมาร์และลาว