5 เคล็ดลับวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนในปี 2558

5 เคล็ดลับวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนในปี 2558

5 เคล็ดลับวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนในปี 2558
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีคร้าบบ วันนี้ @TAXBugnoms กลับมาพร้อมกับบทความใหม่ที่ใครๆหลายคนถามหา กับเรื่อง “การวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน” สำหรับปี 2558 นี้คร้าบบบ

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา.. เรามาเริ่มต้นที่คำถามแรกกันก่อนครับว่า เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ทุกคนคงทราบดีว่า “มนุษย์เงินเดือน” (กรณีที่เป็นโสดและไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆ) เมื่อมีรายได้มากกว่า 240,000 บาท หรือประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน มีหน้าที่ต้องเสีย “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”

โดยขั้นตอนแรกของการเสียภาษีนั้น เราจะถูกนายจ้างหรือบริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในทุกๆเดือนเมื่อถึงเวลาจ่ายเงินเดือนนั่นเอง หลังจากนั้นพอถึงสิ้นปีหรือต้นปีถัดไปเราจะได้รับเอกสารใบหนึ่งที่มีชื่อว่า “หนังสือรับรองการหักภาษีณ ที่จ่าย” เพื่อสรุปรวมให้เรารู้ว่ายอดว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านเรามีรายได้จำนวนเท่าไรและถูกหักภาษีไว้ทั้งหมดเท่าไรบ้าง

ทีนี้ หลายๆคนเมื่อเห็น “หนังสือรับรองการหักภาษีณ ที่จ่าย” มักจะเข้าใจว่าอ้อ.. เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว ก็แปลว่าเราเสียภาษีแล้ว ไม่ต้องทำอะไรต่่อ ชิวๆกันไป แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ!!!! เพราะมนุษย์เงินเดือนอย่างเรายังมีหน้าที่ต้องยื่นและนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมด้วย ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป (สำหรับกรณีที่ยื่นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา) หรือวันที่ 8 เมษายน (สำหรับกรณีที่ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต)

เท่านั้นยังไม่พอ!!! (#ยังไม่จบอีกหรือ) เพราะนอกจากความเข้าใจผิดเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ยังมีอีกหนึ่งความเข้าใจผิดครับ นั่นคือ ถ้าไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก็แปลว่าฉันไม่ต้องเสียภาษีสินะเธอว์จ๋า ซึ่งผมขอบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมากครับ เพราะถ้าหากมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อปี กฎหมายกำหนดให้เรามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีทั้งๆที่ไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดีแหละครับ!!

 อ่านเหตุผลเพิ่มเติมของเรื่องนี้ จากบทความด้านล่างนี้ได้เลยครับ
เหตุผล ที่ “ทุกคน” ต้องยื่นภาษี

หลังจากที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้แล้ว เพื่อนๆพี่ๆน้องๆบางคนอาจจะได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากร หรืออาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มก็แล้วแต่บุญแต่กรรมหรือการวางแผนภาษีที่เราทุกคนทำไว้นั่นเองครับ แต่ถ้าใครยังไม่รู้ผมขอบอกครับว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆนั้น สามารถใช้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีได้มากมายหลากหลายประเภทดังนี้ครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง ค่าลดหย่อนมนุษย์เงินเดือนได้ที่
14 รายการลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน

ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ผมได้รับอยู่เสมอๆ คือ แล้วเราจะคำนวณภาษียังไง หรือใช้รายการค่าลดหย่อนแบบไหนดีล่ะเนี่ย หรือจะวางแผนยังไงเพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด ถ้าเป็นคำถามนี้ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง 5 เคล็ดลับคำนวณภาษีสิ้นปี ฉบับมนุษย์เงินเดือนเดินดิน เพิ่มเติมไว้ก่อนเลยคร้าบบบ

เอาล่ะครับ!!.. หลังจากเราเข้าใจทุกๆประเด็นแล้ว คราวนี้ก็มาถึงบทความในตอนนี้เสียที เพราะผมจะแนะนำวิธีและเคล็ดลับง่ายๆที่ตัวผมเองนั้นใช้วางแผนภาษีสำหรับปี 2558 ให้ฟังกันครับ เผื่อว่าจะทำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆเข้าใจกันและวางแผนภาษีได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมเรียกมันว่า 5 เคล็ดลับวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนปี 2558 ดังนี้คร้าบ

1. สะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มที่!!
สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ลำดับแรกขอแนะนำให้ลองไปสำรวจก่อนครับว่า บริษัทฯที่เราทำงานอยู่นั้นมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้พนักงานบ้างหรือเปล่า ถ้าหากมีแล้วล่ะก็ให้สมัครสมาชิกและเลือกหักเงินสะสมในอัตราสูงสุดที่สามารถจะทำได้ครับ (ตั้งแต่ 2-15%) โดยการหักเงินเพื่อสะสมนั้นจะจากเงินเดือนที่เราได้รับในทุกๆเดือน และกฎหมายให้หักค่าลดหย่อนส่วนนี้ได้สูงสุดถึง 500,000 บาท

สำหรับข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นอกจากมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้วเรายังได้รับเงินสะสมจากนายจ้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะนายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯให้เราอีกต่อหนึ่ง และเราก็ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีอีกด้วย แหม่.. เรียกว่าได้กำไรกันสองต่อเลยทีเดียว (อย่าลืมพิจารณาด้วยนะครับว่า อัตราสมทบที่สูงสุดของนายจ้างคือเท่าไร) อ้อสำหรับกรณีที่เป็นข้าราชการ จะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แทนนะครับ

2. วางแผนเกษียณดีๆด้วย RMF ให้อุ่นใจ
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่นายจ้างไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ก็อย่างเพิ่งเสียใจไปครับ เพราะเราสามารถสร้างกองทุนเกษียณของตัวเองผ่าน “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” ได้สูงสุดถึง 15 % ของรายได้ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท หรือสำหรับใครที่สะสมในข้อ 1 แล้วคิดว่ายังไม่พอที่จะเกษียณก็มาสะสมกันต่อที่ข้อนี้ได้ครับ

3. เอาไปรับกำไรต่อที่ LTF
อย่าลืมแบ่งเงินก้อนที่ 3 มาลงทุนใน “กองทุนหุ้นระยะยาว” (LTF) เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น โดยจะใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15 % ของรายได้ต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีครับ

4. ป้องกันความเจ็บ (ใจ) ด้วยประกันชีวิต
สิ่งหนึ่งที่ใครหลายคนลืมไป นั่นคือการวางแผนป้องกันความเสี่ยงของตัวเองด้วยประกันชีวิต ซึ่ง “กรมธรรม์ประกันชีวิต” ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายในแต่ละปีมาคำนวณลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทครับ

อย่าลืม!! อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่องประกันชีวิตได้ที่ 7 ความจริงที่คุณควรรู้ก่อนลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต (ภาคต้น) และ 7 ความจริงที่คุณควรรู้ก่อนลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต (ภาคจบ) นะคร้าบบ

5. สบายแบบโนลิมิตกับ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ”
ประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นประกันชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีเงินคืนระหว่างอายุกรมธรรม์ แต่จะจ่ายคืนเมื่อเรามีอายุมากกว่า 55 ปี โดยที่เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายในแต่ละปีมาคำนวณลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี

ป.ล. เน้นย้ำว่า.. สำหรับข้อ 1+2+5 และ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เมื่อนำมารวมกันแล้ว สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาทเท่านั้นนะคร้าบบบ

โดยส่วนตัวแล้ว @TAXBugnoms เลือกให้น้ำหนักในการวางแผนภาษีทุกๆข้อเท่าๆกันครับ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตัวผมเอง และสุดท้ายนี้ผมหวังว่าพี่ๆน้องๆมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจะสามารถนำประโยชน์จากบทความนี้ไปใช้ได้ไม่มากก็น้อยนะคร้าบบบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook