"ส่งมรดก" ใช้ประกัน...ไม่เสียภาษีมรดก
ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ออกแบบประกันใหม่เอาใจผู้มีมรดกที่อยากและเตรียมส่งต่อให้ลูกหลาน จัดให้ 2 แบบประกัน 1) มรดกคุ้มค่า 2) มรดกเพิ่มทรัพย์ คุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปี ที่สำคัญผู้รับผลประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีมรดกเพิ่ม ตั้งเป้าสิ้นปี 2558 มีเบี้ยประกันเป็น 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรับใหม่
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ปี 2558 ธนาคาร ออกแบบประกันใหม่ "ประกันชีวิต ซีไอเอ็มบี มรดกเพิ่มทรัพย์" และ "ประกันชีวิต ซีไอเอ็มบี มรดกคุ้มค่า" ให้ความคุ้มครองยาว 99 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าในการส่งต่อมรดก โดยไม่เสียภาษีมรดก
ทั้งนี้ การส่งต่อมรดกตามปกติ จะเป็นการนำทรัพย์สินมาลบด้วยหนี้สินแล้วเสร็จ จึงกลายเป็น มรดก ซึ่งร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก ที่ผ่านมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 22 พ.ค. 2558 กล่าวถึงภาษีการรับมรดกที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นต้องจ่ายภาษี 10%ในส่วนเกิน 100 ล้านบาทดังกล่าว น่าจะทำให้ประชาชนมองหาการประกันภัยมากขึ้น เนื่องจากการประกันภัยไม่จัดเป็นมรดก
“พ.ร.บ. การรับมรดก หรือ ภาษีมรดก ที่น่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย. 2558 นี้ คือ คนที่ได้รับมรดกมากกว่า 100 ล้านบาท ก็ต้องจ่ายภาษี 10% แต่จ่ายภาษีเฉพาะ เงินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทออกมา แต่ถ้าลูกค้ามาซื้อประกัน คนที่รับผลประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีมรดก เพราะประกันไม่นับเป็นมรดกอยู่แล้ว” นายอดิศรกล่าว
นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและที่ปรึกษาการลงทุนและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนบดีธนกิจ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แบบประกัน มรดกคุ้มค่า และ มรดกเพิ่มทรัพย์ ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่ต้องเสียภาษีมรดกได้อย่างดี เพราะลูกค้าสามารถใช้เงินส่วนหนึ่งมาเป็นเบี้ยประกัน แต่หากเสียชีวิตก็มีผู้รับผลประโยชน์ที่จะได้รับเงินเต็มวงเงินทุนเอาประกันภัย
ด้านเป้าหมาย สิ้นปี 2558 ผลิตภัณฑ์ แบบประกันด้านมรดกคาดว่าจะมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรับใหม่ เพราะฐานลูกค้าปัจจุบันที่ซื้อเบี้ยประกัน 1 ล้านบาทขึ้นไปก็มีอยู่กว่า 20 % ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 5% ของฐานลูกค้าทั้งหมดที่ซื้อประกันก็ตาม
ทั้งนี้ ปี 2558 ธนาคารตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิตรับใหม่ไว้ที่ 700 ล้านบาท ซึ่งมากขึ้นจากปี2557 ที่ตั้งเป้าไว้ 500 ล้านบาท และช่วงไตรมาส 1/58 ที่ผ่านมาทางธนาคารมีเบี้ยประกันรับใหม่ที่ 200 ล้านบาท โดยมีสัดส่วน 90% มาจากประกันสะสมทรัพย์ และ 10% มาจากประกันประเภทความคุ้มครอง
“อย่างไรก็ตามเรื่องภาษีมรดก น่าจะยังต้องมี กฎหมายลูกออกมา เพราะที่ได้ยินกันตอนนี้ ยังไม่ละเอียด ทางสรรพากรน่าจะต้องใส่รายละเอียดเพิ่มอีก รวมถึงการตีความที่ชัดเจนด้วย ส่วนช่วงนี้เทรนดอกเบี้ยที่เป็นขาลง น่าจะทำให้ลูกค้าของธนาคาร กันมามองการประกันมากขึ้น และจากปีที่แล้ว เห็นได้ชัดว่าลูกค้าก็สนใจแบบประกันมรดกกันมาก ทำให้เดือนนี้ทางธนาคารออกผลิตภัณฑ์มรดก และคาดว่าสิ้นปีอาจจะมีสัดส่วนถึง 20 % ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด” นางสาวดุษณีกล่าว