5 ขั้นตอนวางแผนซื้อ LTF และ RMF สำหรับปี 2015
บทความ “เคล็ดลับภาษี” ตอนนี้ ขอแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งได้รับเช็คคืนภาษี, เงินโบนัส หรือคนที่ยังไม่ได้วางแผนจัดสรรการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีของตัวเองในปี 2015 นี้ หรือคนที่สนใจเรื่องการลงทุนครับ (สรุปคือแนะนำทุกคน – -“) กับบทความตอนใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า 5 ขั้นตอนวางแผนซื้อ LTF และ RMF สำหรับปี 2015 ตลอดทั้งปี โดยนายหนอม @TAXBugnoms เจ้าเก่าคร้าบบบ
ลำดับแรก.. ก่อนที่เราจะลงลึกถึงรายละเอียดและขั้นตอนในแต่ละขั้นตอนนั้น ผมขอทบทวนวิธีการลงทุน เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน LTF และ RMF ให้ฟังอีกสักครั้งนะครับ
LTF คือ “Long Term Equity Fund” หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก และเหมาะสำหรับคนทุกกลุ่มที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาว แต่อาจไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น หรือไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด
RMF คือ “Retirement Mutual Fund” หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณ เรียกได้ว่าคล้ายๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) (Government Pension Fund) นั่นเองครับ และเหมาะสำหรับคนทุกกลุ่มที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณนั่นเองครับ
ซึ่งทั้งสองกองทุนนี้ให้สิทธิพิเศษในการนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีไว้ดังนี้ครับ
จำนวนเงินที่ซื้อได้เพื่อลดหย่อนภาษี
LTF คือ ซื้อได้สูงสุด 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท
RMF คือ ซื้อได้สูงสุด 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่สมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันแบบบำนาญ
เงื่อนไขในการซื้อ
LTF นั้นเมื่อซื้อแล้วต้อง ถือไว้อย่างน้อย 5 ปี (ปฎิทิน) จึงจะสามารถขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข
ส่วน RMF นั้นมีเงื่อนไขว่า ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี โดยซื้อรวมกันทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 3% ของรายได้หรือ 5,000 บาท นอกจากนั้นยังต้องถือไว้เกินกว่า 5 ปี และมีอายุเกิน 55 ปี ถึงจะสามารถขายได้ครับ
ทีนี้เรามาดูกันต่อดีกว่าครับว่า 5 ขั้นตอนวางแผนซื้อ LTF และ RMF สำหรับปี 2015 นั้นมีอะไรบ้าง
1. ดูฐานภาษี
เริ่มต้นคำนวณก่อนว่า เงินได้สุทธิ ของตัวเรานั้นอยู่ในฐานภาษีไหนตามอัตราภาษีเงินได้แบบก้าวหน้า เพื่อที่จะได้วางแผนการซื้อ LTF และ RMF ได้อย่างถูกต้องครับ
เงินได้สุทธิมาจากไหน
เงินได้สุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ยกตัวอย่างเช่น นายเกรย์แมนเป็นมนุษย์เงินเดือนโสดสนิทมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน เมื่อคำนวณเงินได้สุทธิตามวิธีด้านล่างแล้ว นายเกรย์แมนมีเงินได้สุทธิจำนวน 510,000 บาทซึ่งตกอยู่ในภาษีฐานที่ 15%
เงินได้สุทธินายเกรย์แมน (ทั้งปี) คำนวณได้ดังนี้
510,000 = 600,000 – 60,000 – 30,000
หมายเหตุ
รายได้ทั้งปี มาจาก 50,000 x 12 เดือน
รายได้เงินเดือน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40% ของรายได้แต่สูงสุด 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท อ่านบทความค่าลดหย่อนเพิ่มเติมได้ที่ 14 รายการลดหย่อนภาษี
ทีนี้นายเกรย์แมนมีทางเลือกที่ควรทำคือ …
เลือกลดภาษีฐานสูงสุด เลือกซื้อ LTF หรือ RMF 10,000 บาท เพื่อประหยัดภาษีในฐานสูงสุด ทั้งหมด 1,500 บาท (15%)
เลือกลดภาษีฐานสูงสุด + ตามที่ไหว ซื้อ LTF หรือ RMF 10,000 บาท และเพิ่มเติมด้วยจำนวนเงินที่ซื้อไหว
เลือกลดภาษีจำนวนมากที่สุด ซื้อ LTF และ RMF 90,000 บาท (รวม 180,000) เพื่อประหยัดภาษีไปทั้งหมด 1,500 บาท (15%) + 17,000 (10%) = 18,500 บาท
โดยการซื้อควรจะซื้อให้ครบฐานที่สูงสุดก่อนเพื่อประหยัดภาษีครับ ซึ่งในที่นี้คือ 10,000 บาท ส่วนสาเหตุที่กำหนดข้อนี้เป็นข้อแรกก็เพราะว่า ถ้าหากไม่คำนวณภาษีก่อน บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่ต้องซื้อ LTF และ RMF แต่แนะนำให้ซื้อในกองทุนรวมปกติจะดีกว่า
2. มีแผนลงทุน
คำว่า “มีแผนลงทุน” เลือกประเภทการลงทุน และประเภทกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยคำว่าเหมาะสมนั้นหมายถึง มีความเสี่ยงที่เรายอมรับได้อย่างเหมาะสมครับ
หลังจากนั้นก็ดูว่าตัวเองชอบลงทุนแบบไหน และมีเป้าหมายในการลงทุนอย่างไรบ้าง เช่น ชอบลงทุนในระยะกลาง (5 ปี) หรือ จะวางแผนเกษียณ ต่อด้วยการเลือกนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตัวเองครับ
ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่ชอบความเสี่ยงสูงเกินไปนัก ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนกองทุนรวม LTF ที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก หรืออาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวม LTF ประเภท 70/30 ที่มีการกระจายบางส่วนไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือถ้ากลัวมากกว่านั้น อาจจะไปลงทุนในกองทุน RMF ประเภทอื่นๆแทนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่น้อยลงมาด้วยนะครับ
สำหรับคนที่ยังไม่มีเป้าหมายในการลงทุน หรืออยากรู้ว่ากองทุนไหนดีและเหมาะสมกับเรา ลองดูรายละเอียดกองทุนที่ทางเพื่อนรักของผม หมอนัท ได้คัดสรรมาให้แฟนๆออมมันนี่โดยเฉพาะครับกับบทความนี้ครับ 10 กองทุนน่าสะสม LTF และ RMF ส่งท้ายปี 2014
3. หมุนเงินให้เป็น
การเลือกช่วงเวลาลงทุนที่ถูกต้องสำหรับแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการครับ แต่โดยส่วนตัวแผนการลงทุนที่ผมมักจะแนะนำคือ การทยอยซื้อเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยซื้อทุกครั้งในอัตราส่วนที่ต้องการ เช่น 10% ของรายได้ (สูงสุดไม่ควรเกิน 15%) ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะมากสำหรับทั้งมนุษย์เงินเดือนหรือฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอนครับ
4. เห็นเงื่อนไขชัด
เมื่อผ่านขั้นตอนที่ 1-3 ไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เราต้องไม่ลืมเช็คเงื่อนไขของการลงทุนให้ชัดเจนนะครับ และผมเน้นย้ำเสมอว่าหลักการลงทุนที่ดีของ LTF และ RMF ก็คือ อย่าซื้อเกิน และ อย่าขายก่อน มิฉะนั้นจะมีปัญหาและความวุ่นวายตามมาอย่างแน่นอนครับ
เพราะบางครั้งสิทธิลดหย่อนที่น้อยลงไปหน่อย
อาจจะคุ้มกว่าเงินเพิ่ม(ตอกเบี้ย)ที่ต้องจ่ายเพิ่มนะครับ
5. จัดการติดตาม
สุดท้ายแล้วคือเรื่องของการจัดการติดตามแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอครับ เราอย่าลืมบันทึกข้อมูลการซื้อขาย และทบทวนผลการดำเนินงานของกองทุนที่เราเลือกด้วยว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการลงทุนของเราให้ได้รับผลตอบแทนที่ตรงใจที่สุดยังไงล่ะคร้าบบบบ