ผู้บริโภคต้องรู้! "รถหรู บุหรี่ เหล้า ไวน์" นำเข้า จ่อปรับราคารับภาษีสรรพสามิตใหม่
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการรวมกฎหมายของกรมสรรพสามิตจาก 7 ฉบับเหลือฉบับเดียวเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมากรมได้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม และกฎหมายนี้ช่วยสร้างความเป็นธรรมต่อเอกชน มีความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษี และเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้เสียภาษีมากขึ้น
ทั้งนี้กฎหมายฉบับใหม่ เปลี่ยนแนวทางการจัดเก็บภาษีจากเดิมใช้ฐานราคาหน้าโรงงานเป็นตัวคำนวณภาษี เปลี่ยนเปลี่ยนราคาขายปลีกแนะนำ จะทำให้ฐานของราคาที่จะนำมาคำนวณสูงขึ้น แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคที่ต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น กรมจะปรับอัตราลดลง เพื่อให้ใกล้เคียงอัตราภาษีในปัจจุบัน โดยกรมจะประกาศอัตราภาษี ภายหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้ว ซึ่งกฎหมายจะมีบังคับใช้แล้วในอีก 180 วัน ดังนั้นในระหว่างนั้นกรมจะพิจารณาเพื่อประกาศลดอัตราภาษีของสินค้าในแต่ละตัวลง
นายสมชาย กล่วว่า ภาษีใหม่จะมีผลต่อสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ รถยนต์ บุหรี่ เหล้า ไวน์ ที่เคยถูกเก็บภาษีจากฐานของราคา ณ ท่าเรือ(ซีไอเอฟ) เนื่องจากราคาที่จะนำมาคำณวณภาษีจะกระโดดขึ้นอย่างน้อย 20-100% ทำให้ราคาสินค้านำเข้าอาจต้องปรับราคาขึ้นบ้าง เพราะผู้ประกอบการนำเข้าคงไม่ไปแบกรับภาระไว้เอง
“กฎหมายใหม่จะมีผลทำให้ภาษีของกรมเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะฐานราคาของสินค้านำเข้าที่จะนำมาคำนวณภาษีสูงขึ้น แม้กรมจะประกาศอัตราภาษีลดลงและอัตราภาษีเก็บเท่ากันทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศ แต่เมื่อฐานในคำนวณเปลี่ยนไปเม็ดเงินจากภาษีจะเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้การคำนวณภาษีสรรพสามิตใช้ราคาซีไอเอฟกับราคาหน้าโรงงานก็อาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำตามกฎหมายใหม่ทำให้สินค้านำเข้ากระทบมากกว่า ”นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า สมมุติว่าสินค้าราคาขายปลีก 100 บาท ราคาหน้าโรงงานที่ 80 บาท ราคาซีไอเอฟ 60 บาท มีอัตราภาษีที่ 20% ถ้ากฎหมายใหม่มีผลจะใช้ต้องใช้ราคาขายปลีก 100 บาทมาคิดภาษีทั้งจากสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตในประเทศ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนกรมจะประกาศอัตราภาษีให้ต่ำกว่า 20% เพื่อไม่ให้ราคาขายสูงกว่า 100 บาท ทำให้สินค้าที่ผลิตในไทยจะไม่กระทบ แต่ในส่วนของสินค้านำเข้าที่แจ้งซีไอเอฟไว้ต่ำมากจะกระทบ
นายสมชาย กล่าวต่อว่า กฎหมายนี้จะสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตในประเทศมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศบางราย อาศัยช่องทางของเขตปลอดอากร (ฟรีโซน)ในการหลบเลี่ยงภาษี ด้วยการนำสินค้าเข้ามาและผลิตในฟรีโซนเพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต เพราะถือเป็นการผลิตเพื่อส่งออก แต่เมื่อส่งออกไปแล้วกลับนำสินค้านั้นกลับเข้ามาขายในประเทศใหม่ โดยแจ้งใช้ราคาซีไอเอฟในการคำนวณภาษี ที่ต่ำกว่าราคาหน้าโรงของรถรุ่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าใช้ราคาขายปลีกแนะนำในการคำนวณภาษีปัญหาตรงนี้จะหมดไป
รายงานข่าวจากรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีที่เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับการจัดเก็บภาษีของกรมปีละ 4-5 แสนล้านบาทถือว่าเพิ่มไม่มาก แค่เพียงแค่ 1.2-1.5% เท่านั้น