เรื่องน่ารู้!!! มนุษย์เงินเดือนทำธุรกิจส่วนตัวต้องเสียภาษีอย่างไร?

เรื่องน่ารู้!!! มนุษย์เงินเดือนทำธุรกิจส่วนตัวต้องเสียภาษีอย่างไร?

เรื่องน่ารู้!!! มนุษย์เงินเดือนทำธุรกิจส่วนตัวต้องเสียภาษีอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองต้องแข่งขันตามกระแส มีหลายคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิต มนุษย์เงินเดือนหลายๆคนจึงตัดสินใจเพิ่มโอกาสให้ตัวเองด้วยการทำอาชีพเสริมครับ บางคนอาจจะต่อยอดจากสายงานที่ตัวเองถนัด บางคนอาจจะตัดออกไปสายงานอื่น ส่วนบางคนไม่รู้จะทำอย่างไรเลยต้องกล้ำกลืนฝืนทำโอทีต่อไป แฮร่!!!


บทความ “ภาษีธุรกิจ101″ วันนี้ เริ่มต้นมาจากการที่ผมได้รับข้อความส่งมาปรึกษาเรื่องภาษีหลังไมค์ที่เพจ @TAXBugnoms เป็นการสอบถามสั้นๆว่า ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ขายของออนไลน์ในชื่อตัวเองโดยที่ไม่ได้จดบริษัท จะต้องเสียภาษียังไงและแบบไหนบ้าง และที่ผ่านมาเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่แล้ว แต่รายได้จากการขายของไม่เคยยื่นภาษีเลยครับ!! (ผ่างงงง) จะทำอย่างไรและมีโอกาสถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังหรือไม่


สำหรับคำถามนี้ ผมขออธิบายแบบนี้นะครับ เนื่องจากยังมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดเรื่องการขายของออนไลน์อยู่่มากๆ ว่าไม่ต้องเสียภาษี แต่บอกเลยชัดๆตรงนี้ครับว่า “การเปิดร้านค้าออนไลน์” หรือแม้แต่เราจะมีรายได้เสริมอะไรก็ตามนั้น เรามีหน้าที่ต้อง “เสียภาษี” อย่างแน่นอนครับ โดยภาษีที่เราต้องนั้นมี 2 ประเภท ดังนี้


1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะมาจากการคำนวณ “เงินได้สุทธิ” แล้วคูณด้วยอัตราภาษี


ภาษี (วิธีที่ 1) = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีที่เรามีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เราจะเกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งนั่น คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นี้เองครับ

“ภาษีมูลค่าเพิ่ม” คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่ “เพิ่มขึ้น” ในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ โดยวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไปนั้นจะเรียกว่า วิธีภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ (ภาษีขาย – ภาษีซื้อ) ถ้าในเดือนไหนภาษีขายมากกว่า เราก็มีหน้าที่นำส่งให้สรรพากร แต่ถ้าภาษีซื้อมากกว่าเราก็สามารถขอคืนได้ครับ

ตัวอย่างเช่น ขายสินค้าในราคา 100 บาท ต้องบวก “ภาษีขาย” เข้าไปอีก 7 บาท เมื่อเรียกเก็บจากลูกค้า จะต้องเรียกเก็บในราคา 107 บาท ดังนั้นสำหรับเจ้าของธุรกิจทั้งหลายต้องระวังเรื่องภาษีส่วนนี้ว่าต้องรวมเข้าไปในหน้าที่ของเราเมื่อมีการขายสินค้า และอย่าลืมบวกเพิ่มเข้าไปในราคาขายด้วยนะคร้าบบ

สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีทั้งงานประจำและเปิดขายของร้านค้าออนไลน์เป็นอาชีพเสริม ผมอยากให้เริ่มถามตัวเองด้วยคำถามนี้ก่อนครับว่า “รายได้จากการขายของนั้นเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี” หรือยัง??

กรณีที่รายได้จากการขายของออนไลน์ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี สบายใจได้ว่าเราจะเสียแค่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างเดียวครับ
แต่ในกรณีที่รายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี รู้ไว้เลยนะครับว่า เรามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยจ้าาา

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น กรณีที่มีรายได้จากเงินเดือนและรายได้จากการขายของออนไลน์นั้น ให้ไล่เรียงไปตามขั้นตอนดังนี้ครับ

เริ่มต้นจากวิธีคำนวณตามวิธีที่ 1
เงินเดือนถือเป็น เงินได้ประเภทที่ 1 ส่วนรายได้ของออนไลน์ ถือ เป็น เงินได้ประเภทที่ 8 ตามกฎหมาย
เงินเดือนสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด คือ 40% ไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนรายได้ขายของออนไลน์นั้น สามารถหักค่าใช้จ่าย 2 วิธีคือ แบบเหมา และ แบบตามความจำเป็นและสมควร ดังนี้
- แบบเหมาในอัตรา 80% (ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด)
- แบบตามจำเป็นและสมควร (ตามเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่ครบถ้วนและถูกต้อง)

ส่วนที่เหลือคือ “ค่าลดหย่อน”
นำเงินได้ในข้อ 1 มาลบค่าใช้จ่ายตามข้อ 2 และค่าลดหย่อนตามข้อ 3 เพื่อคำนวณหา เงินได้สุทธิ
หลังจากนั้นคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นำวิธีที่ 1 มาเปรียบเทียบกับวิธีการคำนวณตามวิธีที่ 2
สำหรับวิธีที่ 2 นี้ จะใช้คำนวณต่อเมื่อเรา มีเงินได้จากการขายของออนไลน์เกิน 1,000,000 บาทต่อปี ให้นำเงินได้ส่วนนี้มาคูณด้วย 0.5% เพื่อหาจำนวนภาษีที่ต้องเสียครับ!!!

ภาษี (วิธีที่ 2) = เงินได้ (ที่ไม่ใช่เงินเดือน) x 0.5%

หลังจากนั้น ให้นำภาษีที่คำนวณได้ (ตามวิธีที่ 2) มาเปรียบเทียบกับภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ (ตามวิธีที่ 1) หากได้ภาษีจากวิธีไหนมากกว่าให้ใช้วิธีนั้นในการเสียภาษีครับ!!

วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับ “วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม” นั้น ผมแนะนำให้เริ่มต้นจากการไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สำนักสรรพากรในพื้นที่ที่กิจการของเราตั้งอยู่ก่อนนะครับ แล้วหลังจากนั้น ตามมาด้วยวิธีการดังนี้ครับ

ทุกครั้งที่ขายสินค้า อย่าลืมบวกภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% พร้อมกับออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง
ทุกครั้งที่ซื้อสินค้า อย่าลืมขอใบกำกับภาษีที่ถูกต้องจากผู้ขายสินค้า
ในทุกๆเดือน ให้นำภาษีขายที่ออกให้ลูกค้าในข้อ 1 มาหักออกจากภาษีซื้อที่ได้รับจากผู้ขายในข้อ 2
ผลต่างจากข้อ 3 ให้นำส่งแก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

และทั้งหมดนี้ คือ วิธีการเสียภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ขายของออนไลน์ทั้งหลายครับ แต่แน่นอนครับว่าตอนนี้ต้องมีคนแอบงงอยู่แน่ๆ ดังนั้นผมขอยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจให้เพื่อนๆพี่ๆน้องฟังกันนะคร้าบ

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตัวอย่างเช่น นายเกรย์แมนเป็นมนุษย์เงินเดือนโสดสนิทมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน และยังเปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ชือว่า “จำไว้ท์” โดยรายได้ตลอดทั้งปีคือ 4,000,000 บาทโดยที่นายเกรย์แมนนั้นเป็นหนุ่มโสดสนิท ไม่มีค่าลดหย่อนภาษีอะไรเลยแม้แต่น้อย เรามาดูกันดีกว่าครับว่า นายเกรย์แมนจะเสียภาษียังไงบ้าง

เรามาเริ่มต้นจากวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ (วิธีที่ 1)
คือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

1) รายได้ของนายเกรย์แมน คือ

เงินเดือนทั้งปี 600,000 บาท
รายได้จากการขายของออนไลน์ 4,000,000 บาท

2) ค่าใช้จ่ายของนายเกรย์แมน คือ

ค่าใช้จ่าย เงินเดือน คือ 60,000 บาท (สูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด)
ค่าใช้จ่าย ขายของออนไลน์ คือ 80% x 4,000,000 = 3,200,000 บาท (ตามอัตราเหมา)

3) ค่าลดหย่อนของนายเกรย์แมน

ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท

4) คำนวณเงินได้สุทธิ โดยนำ 1 – 2 – 3

(600,000 + 4,000,000) – (60,000 + 3,200,000) – 30,000
= 1,310,000 บาท

5) คำนวณภาษีตามอัตราภาษีแบบก้าวหน้า

ผลการคำนวณออกมาได้ตามตารางด้านล่างนี้ คือ 192,500 บาท

ต่อมาเราลองวิธีคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ดูบ้างครับ คือ เงินได้ (ที่ไม่ใช่เงินเดือน) x 0.5%

= 4,000,000 x 0.5% คือ 20,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 และ 2 คือ 192,500 บาท กับ 20,000 บาท เราจะเลือกตามวิธีที่คำนวณภาษีได้มากกว่า คือ 192,500 บาท นั่นเองคร้าบบ

หากใครรู้สึกเสียดายว่าต้องเสียภาษีแพงขนาดนี้ !!!
บางทีคำตอบของเราคือการเลือกรูปแบบของธุรกิจใหม่ที่เหมาะสมกับเรามากกว่า
อ่านบทความเรื่อง ทำธุรกิจอย่างไรให้ประหยัดภาษีสูงสุด : 3 เคล็ดลับวางแผนภาษีธุรกิจ

เมื่อถึงตรงนี้ หลังจากที่คำนวณภาษีออกมาได้แล้ว หากเรามีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ในระหว่างปี และ ภาษีที่ยื่นไว้เมื่อตอนครึ่งปี (สำหรับคนที่มีรายได้จากการขายออนไลน์ต้องยื่นภาษีตรงนี้ด้วยครับ) เราก็สามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้อีกทีคร้าบบบ

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆไม่มากก็น้อยนะครับ ฝากติดตามบทความใหม่ในสัปดาห์หน้า และอย่าลืมกด Like เพจ “ภาษีธุรกิจ101″ เพื่อติดตามรับข่าวสารใหม่ๆ ด้วยคร้าบบ

ขอบคุณบทความจากwww.aommoney.com  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook