บิ๊กเต้ ทายาทโชห่วย ร้านเล็กแต่แฝงกลยุทธ์
ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ด้านสินค้าและบริการของร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์มีออกมาให้ผู้คนได้รู้สึกตื่นเต้นเป็นระยะๆ ทั้งบริการรับฝากจ่ายบิล บริการกาแฟสดอาหารเช้า รวมถึงบริการไปรษณีย์ บางแห่งมีบริการรับ-ส่งเสื้อผ้าซักแห้งด้วย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สร้างแรง “กระเพื่อม” ระลอกใหม่ให้ “ร้านโชห่วย” ในชุมชนต้องขยับระดับการพัฒนากิจการของตัวเองให้มากขึ้นจาก “ความคิดต่าง”
รูปแบบร้านโชห่วยที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนเจนวายหันมาสร้างงานสร้างอาชีพอิสระของตัวเองได้อย่างยั่งยืน ร้านบิ๊กเต้ ถือเป็นร้านที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเรื่องแผนกลยุทธ์ธุรกิจ จนได้รับรางวัลชนะเลิศทายาทโชห่วย ประจำปี 2558จัดโดย บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
ร้านบิ๊กเต้ เปิดกิจการมากว่า 2 ปี ร้านตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นร้านที่ได้รับความนิยมในหมู่นิสิตนักศึกษามาก “ผมมี 3 กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ร้านบิ๊กเต้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อขวัญใจนักศึกษา” ศตวัสส์ ฝ่ายรีส์ เจ้าของร้านเปิดเผยเคล็ดลับส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
ร้านบิ๊กเต้มีพื้นที่ทำการประมาณ 1.5 คูหา โดยมีภรรยาช่วยกันดูแลกิจการด้วยตัวเอง และมีพนักงานช่วยขาย 1 คน บริเวณใกล้เคียงมีร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์มากกว่าสองร้านมาช่วยสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
กลยุทธ์แรกของร้านบิ๊กเต้เรียกว่า การทำเหมืองข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญมากในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันมีโปรแกรมสำเร็จรูปช่วยในการจัดการข้อมูลเหล่านี้ ต้องรู้จักลูกค้าของเราก่อนว่าเป็นใคร เพศ อายุ อาชีพ แต่ละกลุ่มมาซื้ออะไรตอนไหน ซื้อเท่าไร การวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เจ้าของร้านรู้รูปแบบการซื้อ ทำให้สามารถจัดวางสินค้าที่ทำให้ลูกค้าเห็น
“แม้เขาไม่ตั้งใจซื้อสินค้านั้นแต่สามารถกระตุ้นให้เขาหยิบสินค้าเพิ่มได้ เหมืองข้อมูลยังช่วยในเรื่องของการคิดรูปแบบการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายโดยรวมได้มากขึ้นด้วย”
กลยุทธ์ที่สอง ศตวัสส์เรียกว่า ทรีต (TREAT) T ตัวแรกคือ Teen หมายถึงกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ร้อยละ 85 ของลูกค้าที่มาใช้บริการร้านบิ๊กเต้ R มาจาก Rare Item หมายถึงสินค้าหายาก หาซื้อตามร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ไม่ได้ ต้องร้านบิ๊กเต้เท่านั้น ส่วน E มาจาก Entrepreneur ร้านบิ๊กเต้สนับสนุนให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน โดยเปิดพื้นที่รับฝากขายสินค้าฝีมือนักศึกษา
สำหรับ A มาจาก As You Wish จัดให้ทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ และ T สุดท้ายมาจาก Trendyจับกระแสความต้องการวัยรุ่น ถามว่าจับจากไหน? บอกว่าโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ไลน์ พันทิปดอทคอม คือแหล่งข้อมูลสำคัญทำให้ร้านบิ๊กเต้ไม่เคยตกเทรนด์
กลยุทธ์ที่สามคือ การสื่อสารกับลูกค้า ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเดินเข้าออกร้านอย่างคึกคัก เจ้าของร้านตั้งใจใช้การสื่อสารเป็นตัวช่วยสร้างความสนิทสนมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และเป็นการบอกกล่าวกับลูกค้าเมื่อมีสินค้าใหม่ๆ มาถึงร้าน เช่น ถ้าเป็นช่วงสอบเขาจะทำป้ายติดไว้ว่า “เห็นข้อสอบแล้วจะเป็นลม พี่เต้มียาดมไว้บริการ” เห็นแบบนี้แล้วต้องเชื่อว่ายาดมร้านบิ๊กเต้ขายดิบขายดีในฤดูกาลสอบกันเลยทีเดียว
ศตวัสส์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า จะทำร้านค้าให้เติบโตยั่งยืนต้องใช้ไอเดียและนวัตกรรม เพราะเราไม่ใช่คนแรก และไม่ใช่คนเก่งที่สุดในธุรกิจ ดังนั้นเราจึงต้องแตกต่าง
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab) สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงทัศนะเรื่องการสร้างความต่างของร้านโชห่วยไว้อย่างน่าสนใจว่า
“โชห่วยเป็นเสน่ห์ของความเป็นเมือง ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของร้านแก้ได้ด้วยการออกแบบ สร้างสุนทรีย์ในการเลือกซื้อสินค้า ใช้แสง สีสันการตกแต่ง ส่วนปัญหาสินค้าไม่ครบ แก้ได้ด้วยการขายสินค้าเฉพาะ เช่น อินโดนีเซียมีร้านโชห่วยขายเฉพาะแยมและเกลือ ในเยอรมนีมีร้านขายชีส ใช้การจัดเรียงสินค้าใหม่และออกแบบตกแต่งโดยนำวัฒนธรรมยุโรปมาประยุกต์ หรือในญี่ปุ่นมีร้านขายเฉพาะซีอิ๊ว ไอเดียและนวัตกรรมทำให้โชห่วยกลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่น่าซื้อและต้องมาซื้อ”
ความเปลี่ยนแปลงของกิจการโชห่วยในชุมชนที่อยู่อาศัยจะเห็นได้ชัดว่าโชห่วยยุคใหม่ได้ก้าวผ่านภาพจำในแบบเดิมๆ มาสู่ร้านขายสินค้าทันสมัย ก้าวหน้าด้วยการใช้ระบบบริหารจัดการที่สามารถตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพทั้งด้านการจัดการต้นทุน เพิ่มยอดขาย สร้างผลกำไร ลูกค้าสบายใจเข้าใช้บริการได้อย่างเป็นกันเอง
คนยุคใหม่ที่ตั้งใจสร้างกิจการร้านสะดวกซื้อเป็นของตนเอง ต้องคิด คิดและคิด คุณจะได้ไอเดียบรรเจิดที่จะมาพร้อมนวัตกรรม ซึ่งคุณสามารถใช้เป็นเครื่องมือทรงพลังในการบริหารจัดการธุรกิจได้
คู่มือหมายเลข 7 ความสำเร็จร้านโชห่วย
1) ทำเลที่ตั้งร้าน - ศึกษาสภาพแวดล้อม ร้านคู่แข่ง ความหนาแน่นของผู้คน กลุ่มเป้าหมาย กำลังซื้อของลูกค้า
2) สินค้าและบริการ - สินค้าพื้นฐาน สินค้าใหม่ สินค้าเทศกาล สินค้าพิเศษ บริการเสริม เช่น รับชำระค่าบริการต่างๆ ถ่ายเอกสาร ส่งแฟกซ์ เติมเงินโทรศัพท์ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซักผ้าหยอดเหรียญ เป็นต้น
3) ราคาและกำไร - มีสูตรคำนวณที่เหมาะสมคือ ราคาสินค้า = ต้นทุนตัวสินค้า x (100%+เปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย+เปอร์เซ็นต์กำไรต่อหน่วยที่เหมาะสม)
4) ผังร้านและการจัดเรียงสินค้า - ช่วยเพิ่มยอดขาย ลูกค้าสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า ทั้งช่วยป้องกันสินค้าสูญหาย
5) การตกแต่งร้าน - สร้างภาพลักษณ์และบรรยากาศเชิญชวนลูกค้ามาใช้บริการ
6) ส่งเสริมการขาย - ลด แลก แจก แถม สร้างความคึกคักกระตุ้นการซื้อของลูกค้า
7) การจัดการสินค้าคงคลัง - ทำให้การควบคุมเงินทุนหมุนเวียนมีประสิทธิภาพ