ธนารักษ์เร่งประเมินที่ดินครั้งใหญ่ ฟันค่าโอนเข้ารัฐ 2.7หมื่นล้าน/ปี!
กรมธนารักษ์เร่งสปีดประเมินที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลงเสร็จภายใน 2 ปี โดยปีนี้ทำเสร็จ 12 ล้านแปลง ที่เหลือเสร็จปีหน้า ชี้ทำให้ราคาที่ดินทั่วประเทศใกล้เคียงความเป็นจริง ทำให้องค์กรท้องถิ่นมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มปีละ 27,000 ล้านบาท
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง ว่า กรมเร่งประเมินราคาที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบนโยบายให้ มีการปฏิรูปภาษีและปรับปรุงข้อมูลของหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพ
เชื่อว่าการประเมินครั้งนี้จะทำให้ราคาที่ดินทั่วประเทศใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยเฉพาะรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้น 30% หรือคิดเป็น ปีละ 27,000 ล้านบาท รวมทั้งยังใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อคำนวณอัตราภาษีกฎหมายใหม่ ทั้งภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
"หากดำเนินการประเมินราคาที่ดินเสร็จแล้ว จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งเบื้องต้นอาจต้องแก้ไขกฎหมายบางส่วน โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การประกาศราคาที่ดิน ที่เดิมจะประกาศราคาทุก 4 ปี แต่จะเปลี่ยนให้มีความทันสมัยมากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันการตรวจสอบราคาที่ดิน กรมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นรายแปลงอย่างละเอียด ก่อนที่จะนำข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบดิจิตอล ทำให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
นายจักรกฤศฏิ์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกรมธนารักษ์ได้แปลงงบประมาณ ปี 2558 วงเงิน 200 ล้านบาท มาใช้ประเมินราคาที่ดิน 32 ล้านแปลง แบ่งเป็น การจ้างงานลูกจ้าง 500 ราย เพื่อลงพื้นที่ในการตรวจสอบที่ดินรายแปลง 110 ล้านบาท และจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้มีความพร้อมในการนำข้อมูลเข้าระบบอีก 90 ล้านบาท โดยปัจจุบันได้สำรวจที่ดินไปแล้ว 8 ล้านแปลง และคาดว่าในปีงบประมาณ 2558 จะสามารถสำรวจได้เพิ่มเติมอีก 4 ล้านแปลง
สำหรับอีก 20 ล้านแปลงที่เหลือจะจ้างที่ปรึกษาบริษัทเอกชน มาดำเนินการ ซึ่งต้องระดมคนในการตรวจสอบที่ดินราคาแปลง โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ที่จะช่วยให้การประเมินข้อมูลดังกล่าวเป็นระบบดิจิตอล ทำให้กรมมีระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถเป็นฐานข้อมูลดิจิตอลของรัฐบาลในระยะต่อไป
การดำเนินการครั้งนี้ช่วยลดเวลาจากการสำรวจราคาที่ดิน จากเดิมที่กำหนดไว้ 8 ปี เหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น และยังช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ จากเดิมหากเป็นการจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการทั้งหมดต้นทุนจะอยู่ที่แปลงละ 350 บาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแปลงละ 150 บาท