6 สเต็ปบริหารเงินสไตล์พอเพียง
เราอาจมีความเชื่อว่า “การมีชีวิตแบบพอเพียงนั้นใช้ในชีวิตโลกทุนนิยมจริงไม่ได้” ความคิดดังกล่าวอาจเป็นความคิดที่ผิด แท้จริงแล้วเราสามารถประยุกต์พอเพียงกับทุนนิยมแบบสุดโต่งอย่างในปัจจุบันได้ เพียงแค่ลองทำตาม 6 ข้ออย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพียงเท่านี้เราก็จะรวยแบบพอเพียงในยุคปัจจุบันนี้ได้แล้ว
6 ขั้นตอนบริหารเงินแบบพอเพียงมีขั้นตอนจาก 1 ไป 6 ดังนี้ (ถ้าเรียงผิด ชีวิตอาจเปลี่ยน)
1.ประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Earning)
ในขั้นแรกเราต้องคิดหาทางทำงาน ทำธุรกิจ หาเงินโดยสัมมาอาชีพ หมายถึง อาชีพการงานที่ดี สุจริต และมีความยั่งยืน ไม่ใช่การกะเก็งกำไรชั่วครั้งชั่วคราว หรือทำงานที่รายได้ดีเพียงแค่วูบเดียว เช่น รายได้ดี 1-3 ปี แต่หลังจากนั้นต้องมานั่งทำสร้างงานปั้นธุรกิจกันใหม่ แบบนี้เรียกว่าไม่ยั่งยืน ไม่ควรเลือกงานที่รวยเร็ว รวยไว แต่ไปไว ควรจะเลือกวิธีทำงาน เลือกทำธุรกิจที่จะอยู่ร่วมกับเราไปตลอดชีวิต หรืออย่างน้อยสัก 30 ปี ศึกษาผลกระทบในระยะยาวว่างานที่ตนเองทำอยู่นั้นจะเป็นไปในแนวทางขาขึ้นหรือขาลงอย่างไรบ้าง
2.ใช้จ่ายเงินที่ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัดตามกำลังของเงินที่มี (Sufficiency Spending)
เมื่อเราได้เงินมาแล้วจากลำดับข้อ 1 ขั้นตอนต่อมาคือ การใช้จ่ายอย่างประหยัด ตามกำลังเงินที่มี ไม่สุรุ่ยสุร่าย มีสติทุกครั้งก่อนจ่ายเงินออกไป รู้ทันเล่ห์กลการตลาดและโฆษณาต่างๆที่จะมาดึงเงินออกจากกระเป๋าเราไป ไม่ใช้จ่ายเกินตัว มี100ใช้90ถึงจะถูกต้อง ไม่ใช่มี100ใช้110แบบนี้ไม่ถูกต้อง
3.ปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน (Zero Loan)
สิ่งที่ขัดขวางความร่ำรวยของคนไทย คือ ความคิดผิดและหนี้สิน ความคิดผิดในที่นี้หมายถึงความคิดที่ว่า ถ้าเรามีสิ่งของภายนอกที่ดูเท่ห์ดูรวยดูดีมาประดับตัวถึงจะทำให้เรารู้สึกรวย รู้สึกดี เมื่อมีความคิดผิดดังนี้จึงออกไปดูสินค้า ปรากฎว่าเงินที่มีอยู่ไม่พอ แต่ใจก็ยังอยากได้อยู่ มีโฆษณาบอกว่า ลองกู้ยืมเงินไปใช้ก่อนสิแล้วฝันทุกคนจะเป็นจริง ว่าแล้วก็ไปกดบัตรเงินสด ไปสมัครบัตรเครดิต ไปยื่นขอสินเชื่อต่างๆ นานา จนกระทั่งเป็นหนี้กันมากมาย
การก่อหนี้อาจจะเป็นสิ่งดีที่ทำให้เรามีโอกาสซื้อสิ่งที่คาดว่าจะแพงขึ้นในอนาคตด้วยราคาปัจจุบันแต่เราอาจจะลืมนึกถึงดอกเบี้ยที่เกิดตามมา บางครั้งการอดทนรอซื้อตอนที่มีเงินจริงๆ เปรียบเทียบกับการซื้อทันทีโดยกู้ยืมมาแล้วราคาบรรทัดสุดท้ายอาจจะพอๆ กัน แต่ความสบายใจและความภาคภูมิใจหรือสตอรี่ของชีวิตเรานั้นต่างกันแน่นอน เพราะการอดทนเพื่อได้ในสิ่งที่หวังไว้นั้นมีค่ามากเมื่อเราอดทนจนกระทั่งสำเร็จ
4.มีเงินเหลือก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน (Saving for Better Future)
เมื่อเรามีการใช้จ่ายตามกำลัง ไม่มีหนี้สิน จะส่งผลให้เรามีเงินเหลือเก็บออมแน่นอน สูตรในการออมต้องแล้วแต่ความชอบและเหตุผล บางคนอาจจะแบ่งการออมออกเป็นดังนี้ ออมเพื่อการศึกษาในอนาคต ออมเผื่อฉุกเฉินบาดเจ็บล้มป่วยตกงาน ออมเพื่อรอลงทุน เป็นต้น การมีเงินออมทำให้เรารู้สึกรวยอยู่ตลอดเพราะมีสภาพคล่อง จะใช้เงินเมื่อไหร่ก็ได้ หากมีวิกฤติต่างๆ ในชีวิตก็ไม่ต้องเดือดร้อนอะไรมากเพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่ามีเงินออมคอยหนุนหลังเวลาตนลำบาก
5.มีเงินช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน (Help Others)
โดยปกติคนเรามีความเห็นแก่ตัวเป็นทุนเดิม คนเราจะไม่แบ่งถ้าตนเองยังไม่อิ่ม สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะคนเรามีสัญชาตญาณเอาตัวรอดอยู่แล้ว เราจะไม่แบ่งคนอื่นตราบใดที่เราเองยังไม่อิ่มไม่พอ การที่เราจะมีเงินเหลือจนกระทั่งอยากช่วยเหลือคนอื่นนั้นแสดงว่าเรามีเงินเก็บบางส่วนอยู่แล้วบวกกับใจที่รู้สึกว่าพอแล้ว ส่วนที่เหลือที่เกินออกมาเราจึงอยากจะแบ่งปันออกไปเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขและความสุขนั้นก็ย้อนกลับมาที่เราให้รู้สึกมีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน
6.มีเงินใช้จ่ายเพื่อปัจจัยเสริม (Follow Your Desire)
เมื่อเรามีเงินเหลือหักลบจากทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นไปหมดแล้ว (ไม่ว่าจะเงินใช้ในชีวิตประจำวัน เงินออม เงินช่วยเหลือผู้อื่น) เงินก้อนสุดท้ายที่เราจะมีคือเงินเพื่อปัจจัยเสริมสำหรับการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายตามอำเภอใจ ใช้ซื้อสิ่งของตามอารมณ์ความอยากได้เต็มที่สุดๆ เพื่อความสุขอย่างมีคุณค่าสมกับที่ได้อดทนรอคอยมา
ปัญหาทางด้านการเงินของคนยุคนี้ส่วนใหญ่มาจากการเรียงลำดับผิดขั้น หลายคนทำข้อ 6 ก่อนเลย จึงทำให้ชีวิตการเงินค่อนข้างล้มเหลว ชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับ มีรากฐานที่มั่นคง ค่อยๆ สร้างขึ้นมาทีละสเต็ปเหมือนการสร้างคอนโดจำเป็นต้องมีการตอกเสาเข็มก่อน ถ้าเสาเข็มไม่มั่นคงตึกก็ไม่มั่นคงตามไปด้วย
ลองนำ 6 สเต็ปนี้ไปคิดพิจารณาตาม แล้วลองทำตามดู ชีวิตการเงินของเราจะเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้นแน่นอน