รัดเข็มขัด! "บินไทย"โละเครื่องบิน-เปิดเออร์รี่รีไทร์พนง.จ่าย5.5พันล้าน

รัดเข็มขัด! "บินไทย"โละเครื่องบิน-เปิดเออร์รี่รีไทร์พนง.จ่าย5.5พันล้าน

รัดเข็มขัด! "บินไทย"โละเครื่องบิน-เปิดเออร์รี่รีไทร์พนง.จ่าย5.5พันล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บอร์ดการบินไทย เห็นชอบขายเครื่องบินเก่าเพิ่ม 8 ลำ เปิดเกษียณก่อนกำหนด หวังลดรายจ่ายตามแผนฟื้นฟู 8-9 พันล้าน

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)การบินไทยครั้งล่าสุด เห็นชอบให้ขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางเพิ่มเติมอีก 8 ลำ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขายไปแล้ว 10 ลำ รวมขายไปแล้วทั้งสิ้น 18 ลำ เพื่อลดรายจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่กำหนดไว้ โดยเครื่องบินที่ขายรอบนี้เป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อ 2 ราย แบ่งเป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัส เอ 330 อีก 4 ลำ โดยรายได้จากการขาย คาดว่าสามารถรับรู้รายได้ช่วงไตรมาส 3 แต่จะมีผลต่อรายรับไม่มากนัก เพราะทั้งหมดเป็นเครื่องบินเก่าที่มีอายุเกิน 20 ปี จึงไม่ได้มีการตั้งสำรองด้อยค่าไว้สูง

นายจรัมพร กล่าวว่า สำหรับแผนการขายเครื่องบินเก่าของการบินไทยทั้งหมดในปี 2558 ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งสิ้น 42 ลำ เพื่อลดขนาดฝูงบินให้เหลือ 89 ลำ แต่จากการประเมินล่าสุดคาดว่าทั้งปีจะขายได้เพียง 30 ลำ น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12 ลำ เนื่องจากในจำนวนนี้มีเครื่องบินรุ่นที่ขายยากอย่างแอร์บัส เอ340-500 อยู่ 4 ลำ และอีก 8 ลำ เป็นรุ่นโบอิ้ง 747 ซึ่งจะมีการปลดระวางช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ จึงจะขายได้ไม่ทันในสิ้นปี ดังนั้นช่วงครึ่งปีหลังจากนี้การบินไทยคาดว่าจะขายเครื่องบินเก่าได้เพิ่มอีก 12 ลำ

นายจรัมพร กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการเกษียณพนักงานก่อนกำหนด(เออรี่ รีไทร์) ตามโครงการร่วมใจจาก ที่เปิดโครงการตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายการบินไทยอีกทางหนึ่ง แต่จำนวนพนักงานที่เออรี่ รีไทร์มีเท่าไรยังบอกไม่ได้ เพราะจะต้องแจ้งรายละเอียดกับพนักงานภายในการบินไทยก่อน แต่ทั้งปี 2558 การบินไทยได้ตั้งงบประมาณสำหรับรับการเออรีรีไทร์ปีนี้ไว้ 5,500 ล้านบาท ส่วนการปรับลดเที่ยวบินที่ตารางบินเดือนตุลาคม 2558-มีนาคม 2559 ยังไม่ได้มีการเสนอเข้าที่ประชุม แต่การบินไทยมีแผนจะลดเที่ยวบินหรือเส้นทางที่ขาดทุนหรือมีผู้โดยสารน้อย ลงอีก 5%

“แผนการลดรายจ่ายของการบินไทยในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดรายจ่ายทั้งปีให้ได้ 8,000-9,000 ล้านบาท แต่จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่พวกเรากำลังพยายามทำให้สำเร็จ”

นายจรัมพร กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอัตราบรรทุกผู้โดยสาร(เคบินแฟกเตอร์) ไตรมาสสองคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 70% น้อยกว่าไตรมาสแรกที่มีเคบินแฟกเตอร์ที่ 75-76% เนื่องจากเป็นชช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว(โลว์ซีซั่น) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่การบินไทยยังคงเป้าหมายเคบินแฟกเตอร์ทั้งปีไว้ที่ 80% เหมือนเดิม ส่วนแนวโน้มไตรมาสสอง คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเช่นเดียวกับครึ่งปีแรก โดยจีนยังเป็นตลาดสำคัญของการบินไทย ขณะที่ยุโรปยังทรงตัวต่อไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ผลกระทบจากการระบาดโรคเมอร์สในประเทศเกาหลีใต้ ยังไม่ส่งผลให้ให้ผู้โดยสารยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook